แนะนำภาษาท่า


แนะนำภาษาท่า

            ภาษาท่า  จากที่ได้ให้ความหมายของคำว่า  “ภาษาท่า”  ไว้ในตอนต้นของบทนี้แล้วนั้น  ถ้าจะกล่าวโดยสรุป  ภาษาท่าที่ใช้ในการรำไทย
หรือนาฏศิลป์ไทยมี  2  แบบ  คือ 

            แบบที่  1  เป็นภาษาท่าที่มาจากธรรมชาติ  แต่มีการปรับปรุงท่าทางให้ดูสวยงาม  อ่อนช้อยยิ่งขึ้น  เช่น  ท่าเรียก  ปฏิเสธ  ยิ้ม  ร้องไห้  สนุกสนาน 
รัก  โกรธ  เป็นต้น 

            แบบที่  2  เป็นภาษาท่า  ที่มาจากการประดิษฐ์ขึ้นโดยตรง  เพื่อให้มีเพียงพอใช้กับคำร้อง  หรือคำบรรยายที่จะแสดงออกมาเป็นท่ารำ เช่น  คำว่า 
สวยหรืองาม  จะใช้ท่าประดิษฐ์จากการรำแม่บทใหญ่  คือ  ใช้ท่าเฉิดฉิน  การแสดงความยิ่งใหญ่ใช้ท่านภาพรหรือท่าพรหมสี่หน้า  เป็นต้น

                ไม่ว่าจะเป็นการใช้ท่ารำแบบธรรมชาติหรือท่าแบบประดิษฐ์ขึ้นก็ตาม  เป็นเรื่องของผู้ใช้ท่ารำหรือครูที่สอนท่ารำ 
จะต้องพิจารณา และกำหนดท่ารำออกมาให้เหมาะสม  และสามารถแสดงออก เป็นสื่อให้เข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ชมกับผู้แสดง  จึงใคร่ขอคำแนะนำ 
ภาษาท่า  พอเห็นเป็นแนวทางในการประดิษฐ์ท่ารำดังต่อไปนี้
 

1.             ยิ้ม  ใช้มือซ้ายยกจีบมือที่จีบระดับปาก  และหักข้อมือเข้าหาใบหน้า  ให้ปลายนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มืออยู่ตรงระดับปาก

2.              หอมหรือดม  ใช้มือซ้ายจีบ  และหักข้อมือที่จีบเข้าหาให้ปลายนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มืออยู่ระดับจมูก

3.             ฉันหรือตัวเรา  ใช้มือซ้ายจีบหันข้อมือที่จีบเข้าหาลำตัวและวางมืออยู่ระดับระหว่างอก

4.             ท่าน เธอ คำว่าท่าน  ซึ่งเป็นบุรุษที่ 2 นี้ ใช้แทนตัวผู้ที่มีเกียรติหรือศักดิ์ที่สูงกว่าผู้พูด
ไม่ควรใช้การชี้ ควรใช้ส่วนทั้งหมดของฝ่ามือในลักษณะของการตะแคงมือ  ให้ปลายมือไปสู่ผู้ที่กล่าวถึงและคำว่าเธอ จะใช้ลักษณะของการชี้มือได้

ข้อควรระวัง  การใช้กิริยาชี้มือควรจะเป็นลักษณะของการตะแคงนิ้วชี้  ส่วนลักษณะการใช้นิ้วชี้ชี้ตรงหรือคว่ำมือ จะบอกถึงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ

5.             ไป  จะชี้มือใดก็เริ่มจากการจีบหงาย ยกจีบระดับหน้าอกแล้วม้วนมือออกไปเป็นวงหน้า หรือวงข้างก็ได้

6.             มา  ให้ตั้งมือพอประมาณระดับวงหน้าแล้วกดปลายมือลงจีบคว่ำและตวัดจีบเข้าหาลำตัว

7.             การรับ  ใช้มือใดมือหนึ่งก็ได้ตั้งมือระดับวงหน้า แล้วพลิกช้อนมือหงายขึ้น  ถ้ารับสองมือ ก็ตั้งมือทั้งสองให้เหลื่อมกันแล้วพลิกช้อนฝ่ามือ
พร้อมกัน

8.             ปฏิเสธ ให้ตั้งมือขึ้นระดับวงหน้าแล้วสั่นปลายมือพร้อมส่ายหน้าเล็กน้อย 

9.             เสียใจ  ร้องไห้  ให้ยกมือซ้ายแตะหน้าผาก มือขวากุมที่ชายพกหรือหัวเข็มขัดและสะดุ้งตัวขึ้นลงพร้อมด้วย  แสดงว่า  กำลังสะอื้น

10.      โกรธ  ใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งถูที่ก้านคอ  ตอนใต้ใบหูไปมาพร้อมทั้งกระทืบเท้าลงอย่างแรง

11.      รัก  ใช้ลักษณะของการประสานมือให้ปลายนิ้วทั้งสองมือทาบแตะที่ฐานไหล่  กิริยานี้มีความหมายถึงการห่มผ้าก็ได้

12.      เป็นทุกข์  ห่วงใย  คอย  ใช้ประสานลำแขนระดับท้องปลายมือทั้งสองแตะใกล้กระดูกเชิงกราน

13.      อาย ใช้ฝ่ามือหงายแตะที่ข้างแก้ม เอียงและก้มหน้าเล็กน้อยข้างเดียวกับมือที่แตะแก้ม

14.      เก้อเขิน  ถูฝ่ามือทั้งสองแล้วทิ้งแขนลงล่างแกว่งตัวและช่วงแขนไปมา

15.      ร่าเริง  เบิกบาน  เริ่มใช้ท่าด้วยการจีบมือทั้งสอง 
หักข้อมือเข้าหาลำตัวระดับอก  แล้วม้วนมือออกตั้งวงกลางและกระแทกท้องแขนให้เหยียดตึงระดับไหล่ทั้งสองข้าง

16.      ดีใจ  ปรบมือทั้งสองเข้าหากันระดับอก

17.      กลัว  มือทั้งสองประสานกันระดับอก  ถ้าสั่นมือที่ประสานกัน แสดงว่ากลัวมาก

18.      ความรุ่งเรือง  สว่างไสว  เปิดเผย  เริ่มท่าด้วยการจีบคว่ำระดับหน้าท้อง
จีบคว่ำให้มือทั้งสองเรียงระดับเดียงกันหรือซ้อนมือกันก็ได้ แล้วค่อยๆคลายจีบทั้งสอง  แยกมือออกไปตั้งวงบัวบาน

19.      แสดงความเป็นใหญ่  ใช้มือใดมือหนึ่งตั้งวงบัวบาน  อีกมือหนึ่งตั้งและเหยียดตรงระดับไหล่ที่เรียกว่า ท่านภาพร 
หรือจะใช้วงบัวบานทั้งสองมือที่เรียกว่า  ท่าพรหมสี่หน้าก็ได้

20.      ความสวย ความงาม ใช้มือใดมือหนึ่งตั้งวงบัวบานอีกมือหนึ่งตั้งวงหน้าที่เรียกว่า  ท่าเฉิดฉิน

 


                                   

คณะศิลปศึกษา    สาขา นาฏศิลป์ไทย    ชั้น  ปริญญาตรี ปีที่   1