ผลงานการสร้างสรรค์ชุดการแสดง

 

  ระบำจักสาน

ประวัติความเป็นมา ระบำจักสาน เป็นระบำที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการประกอบอาชีพของชาว อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งส่วนใหญ่จะยึดอาชีพในการทำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ หรือหวาย อันเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง จากแนวคิดนี้ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จึงได้นำการทำเครื่องจักสานมาจัดรูปแบบในเชิงศิลปะนาฏศิลป์และดนตรี โดยลำดับขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ลีลาท่ารำการหาไม้ไผ่หรือหวายมาจัดทำเป็นเครื่องจักสานในรูปแบบลักษณะต่างๆ ซึ่งมีความงดงามยิ่ง โดยผสมผสานไปกับท่วงทำนองเพลงอันไพเราะ

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
คณะครู อาจารย์ภาคนาฏศิลปไทย วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง
อาจารย์สำรวย งามชุ่ม อาจารย์พิเศษภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

 

 

ระบำตุ๊กตาชาววัง

ประวัติความเป็นมา ตุ๊กตาชาววัง เป็นศิลปะในรูปแบบของศิลปาชีพอย่างหนึ่งของไทยเรา ซึ่งชาวอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จะทำการปั้นตุ๊กตาชาววังเป็นหลักในการประกอบอาชีพ นับว่าเป็นศิลปะอันมีคุณค่ายิ่ง จากแนวคิดนี้ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จึงนำเอาลักษณะของการปั้นตุ๊กตาชาววังมาคิดประดิษฐ์เป็นลีลาท่ารำ โดยเน้นถึงการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยในภาคกลาง เช่น มอญซ่อนผ้า ขี่ม้าส่งเมือง รีรีข้าวสาร เป็นต้น ประกอบกับท่วงทำนองเพลงอันไพเราะ

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทย

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง อาจารย์สังเวียร ทองคำ และอาจารย์สำรวย งามชุ่ม
อาจารย์พิเศษภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

 

ระบำเทพบูชิต

ประวัติความเป็นมา ระบำเทพบูชิต เป็นการแสดงชุดหนึ่ง ซึ่งนางสาวอารมณ์ โสฬศ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ได้เล็งเห็นว่า ในจังหวัดอ่างทองนั้นเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนามีวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเราแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงมีดำริให้อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ไทยและภาควิชาดุริยางค์ไทย คิดประดิษฐ์ท่ารำและทำนองเพลง ในรูปแบบของการจินตนาการจากสภาพความเป็นอยู่ของครไทยเรา มาเป็นการแสดงในเชิงศิลปวัฒนธรรม ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย การแสดงชุดนี้ ได้นำไปแสดงครั้งแรก ณ โรงละครแห่งชาติ เนื่องในงานนาฏศิลป์สี่ภาค ของสถาบันการศึกษา กรมศิลปากร ปีพ.ศ. 2535

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทย

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง คณะครู อาจารย์
ภาควิชาดุริยางค์ไทย

 

 

ระบำบันเทิงเภร
ประวัติความเป็นมา ระบำบันเทิงเภรีเป็นระบำชุดหนึ่งที่วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทองได้แนวคิดมา จากคำขวัญ ประจำจังหวัด วรรคที่ว่า “ถิ่นฐานทำกลอง” ซึ่งถือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ระบำชุดนี้มุ่งเน้นที่จังหวะของการตีกลองอย่างสนุกสนาน อันประกอบด้วย กลองยาวและรำมะนา ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยรักความสนุกสนานของชาวอ่างทอง อีกทั้งยังได้อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่งของชาวอ่างทองไว้มิให้สูญหาย ระบำชุดนี้ จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2535

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทย

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง คณะครู อาจารย์
ภาควิชาดุริยางค์ไทย โดยมีอาจารย์ปฐมรัตน์ ถิ่นธรณี อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปจันทบุรี (ขณะนั้น) เป็นที่ปรึกษาในการสร้างทำนองเพลง

 

 

  ระบำแววพัชนี
ประวัติความเป็นมา
ระบำแววพัชนี เป็นระบำชุดหนึ่งซึ่งทางวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดความงดงามในท่ารำของนาฏศิลป์ไทย และพัดหางนกยูงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ผู้แสดงจะแต่งกายเลียนแบบสตรีไทยในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา และถือพัดหางนกยูงออกมาร่ายรำตามลีลาและท่วงทำนองดนตรีไทย อันไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งดัดแปลงทำนองขึ้นมาใหม่

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทย

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง คณะครู อาจารย์
ภาควิชาดุริยางค์ไทย

 

 

ระบำสกุณกินนร
ประวัติความเป็นมา
ในการสร้างงานด้านสถาปัตยกรรมในสมัยโบราณ มีการประดับตกแต่งด้วยจิตรกรรมและปฏิมากรรม โดยนำคติความเชื่อเรื่องศาสนาเทพเจ้า นิยายต่างๆ มาเป็นแนวในการสร้างงานศิลป์ โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ซึ่งการวาดภาพกินนรนั้น เกิดจากจินตนาการของครูช่างในสมัยโบราณ โดยการนำนกที่เป็นสัตว์ในธรรมชาติรวมเข้ากับคน แล้วนำมาประดับตบแต่งให้เกิดความสวยงามได้สัดส่วนที่มีความอ่อนช้อย สง่างาม อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปไทยอย่างแท้จริง
ด้วยงานศิลปด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และปฏิมากรรมของไทย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิด นำมาสู่การสร้างงานศิลปทางด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ของวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง โดยนำคุณค่าแห่งความงดงาม ความสง่างามของนกกินนรมาจินตนาการ สร้างสรรค์นาฏศิลป์ไทยในยุคปัจจุบัน เพื่อประเทืองภูมิปัญญา ความบันเทิง ความเจริญรุ่งเรืองแห่งศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป


ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทย โดยมีอาจารย์นพรัตน์ หวังในธรรม เป็นที่ปรึกษาในการประดิษฐ์ท่ารำ

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง
อาจารย์สังเวียร ทองคำและ คณะครู อาจารย์
ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง
 

 

 

ระบำนาฏนารีศรีอโยธยา
ประวัติความเป็นมา ระบำนาฏนารีศรีอโยธยา เป็นการแสดงแนวอนุรักษ์และสร้างสรรค์ ของนักศึกษาระดับชั้นสูงปีที่ 2 ปีการศึกษา 2544 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง โดยกล่าวถึงความอ่อนช้อยงดงามของสตรีไทยในราชสำนักสมัยอยุธยา ประกอบกับทำนองเพลงที่มีความไพเราะอ่อนหวาน การแต่งกายเลียนแบบสตรีไทยสมัยอยุธยา

ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คณะครู อาจารย์ภาควิชานาฏศิลปไทยและนักศึกษาชั้นสูงปีที่ 2 ปีการศึกษา 2544

ผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง
คณะครู อาจารย์
ภาควิชาดุริยางค์ไทยและนักศึกษาชั้นสูงปีที่ 2 ปีการศึกษา 2544 วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง

     
     
 

ประวัติความเป็นมา
การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง ชุดลำนำนาฏดนตรี

เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยคณาจารย์หมวดพื้นเมือง
และคณาจารย์หมวดปี่พาทย์ของวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายสมบัติ แก้วสุจริต
ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง นายบุญชอบ สิทธิสาร
และนางมาลัยทิพย์ สิทธิสาร เป็นที่ปรึกษาให้โดยตลอด การแสดงชุดนี้ได้รวบรวมกระบวนการรำและองค์ประกอบ
ของการแสดงลิเกที่สำคัญๆ มาจัดทำในลักษณะรูปแบบของระบำ โดยเริ่มต้นจากการรำถวายมือ การรำเชิดเพื่อเริ่มต้นการแสดง
และตัวเจ้าออก มาร้องรานิเกิง เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะ
ประกอบอาชีพลิเก และดำเนินเรื่องด้วยเพลงที่แสดงอารมณ์ต่างๆ
เช่น เพลงขึ้นพลับพลา รานิเกิง มะลิซ้อน ลาวครวญ ลิงโลด
ตวงพระธาตุ โนเน เป็นต้น แล้วจบลงด้วยเพลงเชิด
อันหมายถึงจบการแสดง
นอกจากการแสดงชุดนี้จะประกอบ
ไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นแล้วเครื่องแต่งกายของผู้แสดง
ยังพยายามที่จะรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของลิเกไทยให้มากที่สุด คือผู้แสดงแต่งกายลักษณะลิเกทรงเครื่องและลิเกลูกบท โดยเฉพาะผู้แสดงตัวพระทุกคนนุ่งผ้าในลักษณะแบบผ้าไทย
ที่ศิลปะนิชั้นครูได้รังสรรค์ไว้แต่โบราณ จัดแสดงครั้งแรกในงาน
แสดงศิลปวัฒนธรรมของ สถานศึกษาสังกัดกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 20-24 สิงหาคม 2544 ณ วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

 
 
 

 

ปัจจุบันวิทยาลัยกำลังดำเนินการผลิตผลงานชุดใหม่ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะนำมาเสนอแด่ท่านต่อไป...

 

top

กลับหน้าหลัก