..การไหว้ครูศิลปะ...

การไหว้ครูดนตรีไทย/นาฏศิลป์ไทย

...โดย นายมนตรี ตราโมท...
ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

.................การไหว้ครูนั้นไทยเรามักจะปฏิบัติกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะประกอบกิจกรรมกันอย่างไหนคนไทยเรา มั่นในความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพการีเป็นนิสัย โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ไม่ว่าวิชาใดเรามักจะเคารพบูชาระลึกถึง
คุณานุคุณถ้ามีโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณได้ก็มักจะกระทำเสมอการกระทำที่เป็นการสนองพระคุณนั้นอาจกระทำ
ได้ต่างๆตามฐานะและ
โอกาสอาจช่วยเหลือด้วยเงินทองช่วยเหลือการทำงานหรือปฏิบัติหากครูได้สิ้นชีพไปแล้วก็ทำบุญ
อุทิศส่วนกุศลไปให้หรือเชิดชูเกียรติคุณในสิ่งที่ครูได้กระทำไว้ให้แพร่หลายเป็นต้นที่กล่าวมานี้เป็นกตเวทิคุณที่ศิษย์กระทำ
ด้วยความกตัญญูในวิชาทั่วๆไปแต่โดยเฉพาะวิชาที่เป็นศิลป์การกระทำกตเวทิคุณยังแผ่ออกไปถึงเทพเจ้าที่วิชานั้นถือว่า
เป็นครูบาอาจารย์และเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อวิชานั้นด้วย พราะฉะนั้นศิษย์ที่เรียนวิชาศิลปจึงยังมีกตเวทิคุณอีกอย่างหนึ่ง
ที่เรียกกันว่า ”ไหว้ครู” พิธีไหว้ครูนี้ ศิลปประเภทหนึ่งก็มีพิธีการไปอย่างหนึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะศิลปวิทยาการนั้น ๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการไหว้ครูของวิชาดนตรีไทยเท่านั้น

... ..........การไหว้ครูของดนตรีไทยนั้น ก็มีหลายอย่างเวลาก่อนนอน เราสวดมนต์ไหว้พระแล้วก็ไหว้ครูบาอาจารย์ด้วย นี่ก็เป็นการไหว้ครูโดยปกติวิสัยเราไหว้ทุกวันจะเป็นวันไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นการประกอบพิธีไหว้ครูที่เป็นพิธีรีตอง มีเครื่องสังเวย มีครูผ็เป็นหัวหน้าอ่านโองการตามแบบแผนอย่างนี้จะต้องทำใน วันพฤหัสบดีเท่านั้น เพราะถือว่าพระพฤหัสบดีเป็นครูทั่วทุกวิชา บ้านใดมีเครื่องปี่พาทย์มีผู้บรรเลงเป็นหมู่คณะมักจะประกอบพิธีไหว้ครูเป็นประจำทุก ๆ ปี ส่วนคณะที่เป็นอดิเรก เช่น
มหาวิทยาลัย หรือธนาคาร หรือสถาบันใด ๆ ก็ตาม มักจะเลือกทำตามโอกาสที่อำนวยนอกจากนี้มักกระทำพิธีไหว้ครู
เมื่อจะเริ่มเรียน เป็นการกระทำอย่างย่อเพียงแต่เคารพกฎหรือถวายตัวเป็นสานุศิษย์แห่งเทพเจ้าผู้เป็นครู ส่วนการไหว้ครูประจำปีนั้น โดยมากจะทำกันเป็นพิธีใหญ่การไหว้ครูดุริยางคดนตรีนี้ น่าจะเนื่องมาโดยชาติไทยแต่โบราณคงจะนับถือเจ้ากันอยู่บ้างแล้ว เมื่อมาได้คติทางศาสนาพราหมณ์ของอินเดียพร้อม ๆ กับการเริ่มระเบียบแห่งการดนตรีขึ้นใหม่ในแดนสุวรรณภูมินี้ จึงได้ถือเป็นแบบอย่างสืบกันมาทีเดียว ไม่มีปัญหาอะไรที่จะกล่าวว่า พิธีไหว้ครูของเราเอาแบบอินเดียมาใช้ เพราะชื่อเทพเจ้าทุก ๆ องค์ตรงตามตำราแห่งศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น แต่คงจะดำเนินตามคัมภีร์จำพวกปุราณะนิกายใดนิกายหนึ่งเป็นแน่ เพราะในโองการคำไหว้ครูตอนไหว้พระเป็นเจ้ามิได้ไหว้พระพรหม กล่าวนามแต่พระอิศวรกับพระนารายณ์และเทพเจ้าอื่น ๆ เท่านั้นเนื่องจากไทยเราเป็นพุทธมามกะ พิธีไหว้ครูจึงมักจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ก่อน คือในวันพุธตอนเย็นก็จะมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งเช้าวันพฤหัสบดีถวายอาหารบิณฑบาตร เมื่อพระสงฆ์เสร็จภัตรกิจแล้ว จึงจะเริ่มพิธีไหว้ครู แต่พิธีสงฆ์นี้ไม่ได้อยู่ในระเบียบว่าจะต้องมี บ้านใดหรือคณะใดไม่สะดวกจะไม่มีก็ได้ คือเริ่มด้วยการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีทีเดียว ซึ่งจะต้องทำในตอนเช้าสถานที่ประกอบพิธีไหว้ครูควรให้มีที่กว้างพอที่ศิษยานุศิษย์และผู้ร่วมพิธีจะนั่ง สิ่งที่จะตั้งสำหรับไหว้จะต้องมีที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชาพร้อมไว้ทางหนึ่ง ส่วนอีกทางหนึ่งจัดตั้งเครื่องดนตรีไทยต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบและสวยงามโดยไม่ต้องจัดเป็นวง และจะต้องมีตะโพนลูกหนึ่งตั้งอยู่ด้วยโดยตั้งสูงกว่าสิ่งอื่น เพราะในทางดนตรีไทยถือว่าตะโพนสมมติแทนองค์พระปรคนธรรพ แต่ถ้าจะมีหน้าโขนตั้งด้วยก็ได้
หน้าโขนที่ควรจะตั้งก็คือหน้าฤาษี พระปรคนธรรพ พระวิสสุกรรม พระปัญจสีขร พระพิราพ แต่ถ้าจะเพิ่มหน้าพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระคเณศร์ อีกด้วยก็ยิ่งดี ส่วนเครื่องบูชากกระยาบวช ก็มีดอกไม้ ธูป เทียน หัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปลา บายศรีปากชาม ขนมต้มแดง ต้มขาว ผลไม้ต่าง ๆ หากว่าในพิธีนั้นไหว้พระพิราพด้วย ก็จะต้องมีเครื่องดิบอีกชุดหนึ่งเหมือนกับเครื่องสุกดังที่ได้กล่าวแล้ว เครื่องสังเวยเหล่านี้จะเป็นคู่หรือเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือขันกำนล ซึ่งมีขันล้างหน้าใส่ดอกไม้ธูปเทียน ผ้าขาวหรือผ้าเช็ดหน้า และเงินกำนล ซึ่งโบราณใช้ ๖ บาท ถ้าจะมีปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ ประกอบด้วยก็ได้แต่จะต้องมีขันกำนลเช่นเดียวกันให้ผู้บรรเลงปี่พาทย์ครบทุก ๆ คนทั้งวง ครูผู้ทำพิธีจะต้องนุ่งขาวห่มขาว เมื่อได้จุดธูปเทียนบูชาครูเสร็จแล้ว ครูก็จะทำน้ำมนต์ ในขณะนั้นศิษย์และผู้ร่วมพิธีจุดธูปเทียนบูชา อธิษฐานตามแต่จะประสงค์ แล้วครูผู้ทำพิธีจะเริ่มกล่าวโองการนำให้ผู้ร่วมพิธีว่าตาม ซึ่งเริ่มด้วยบูชาพระรัตนตรัยและไหว้ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ขอพรต่าง ๆ ตามแบบแผน ซึ่งแต่ละครูแต่ละอาจารย์อาจผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างแล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ ตามที่ผู้กระทำพิธีนั้นจะเรียก ต่อจากนั้นก็กล่าวถวายเครื่องสังเวยแล้วเว้นระยะสักครู่หนึ่ง จึงได้กล่าวลาเครื่องสังเวย ต่อจากนั้นครูผู้เป็นประธานก็จะประพรมน้ำมนต์และเจิมเครื่องดนตรีและหน้าโขนต่าง ๆ จนครบถ้วน หลังจากนั้นก็จะประพรมน้ำมนต์และเจิมให้แก่ศิษย์ และผู้ร่วมพิธี เป็นอันเสร็จการไหว้ครู หลังจากพิธีไหว้ครูแล้ว จึงจะถึง “พิธีครอบ” ซึ่งจะทำติดต่อกันไป คำว่า ครอบ นี้ มิได้หมายว่านำวัตถุอย่างหนึ่งมาครอบเหมือนอย่างเอาฝาชีมาครอบอาหารกันแมลงวัน ครอบในที่นี้หมายถึงการประสิทธิประสาทวิทยาการหรืออนุมัติให้เริ่มเรียนวิชาในชั้นนั้น ๆ ได้ วิธีการครอบย่อมแล้วแต่กรณีของศิลปนั้นซึ่งอาจไม่เหมือนกันส่วนในศิลปดนตรีไทยถือว่าปี่พาทย์เป็นหลักสำคัญของดนตรีทั้งหลายจึงครอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ การครอบของการเรียนปี่พาทย์นั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับไป เหมือนการเรียนวิชาสามัญ เป็นประถม มัธยม และอุดม
..........๑. ขั้นแรกทีเดียวนั้นเป็นครอบอย่างย่อ ผู้เรียนนำดอกไม้ธูปเทียน และเงินกำนลมามอบให้แก่ครูด้วยคารวะ แล้วครูก็จับมือศิษย์ผู้นั้นให้ตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นเพลงสาธุการ ๓ ครั้ง ก็เป็นอันเสร็จ ถือว่าศิษย์ผู้นั้นเป็นอันเริ่มเรียนปี่พาทย์ต่อไปได้ โดยต่อเพลงสาธุการต่อไปจากผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้จนจบ แล้วก็เรียนเพลงในชุดโหมโรงเย็น ซึ่งยกเว้นเพลงตระไว้เพลงหนึ่ง และเรียนเพลงบอื่น ๆต่อไปตามแต่ครูจะเห็นสมควร
..........๒. การครอบอันดับที่สอง ก็คือเมื่อศิษย์เรียนเพลงโหมโรงเย็นเสร็จแล้ว และเริ่มเรียนเพลงตระโหมโรง ซึ่งได้เว้นไว้เมื่อเริ่มเรียนขั้นแรก โดยครูจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ขึ้นต้นเพลงตระ ๓ ครั้ง
..........๓. ครอบอันดับสาม เป็นการเริ่มเรียนเพลงโหมโรงกลางวัน ซึ่งครูก็จะจับมือให้ตีเพลง ตระบองกัน
..........๔. อันดับที่สี่ เริ่มเรียนการบรรเลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ในขั้นนี้ครูมักจะจับมือให้ตีเพลงบาทสกุณี
..........๕. อันดับที่ห้า เมื่อเริ่มเรียนเพลงองค์พระพิราพ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงสูงสุด
..............

 

 

................วิธีการ ครอบ เมื่อได้ประกอบการพิธีไหว้ครูเสร็จแล้ว ศิษย์ผู้ประสงค์จะครอบก็นำขันกำนล มีดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า และเงินกำนล เข้าไปหาครูผู้ทำพิธี สง่ขันกำนลให้ครูและถือไว้ก่อนจนกว่าครูจะว่าคำประสิทธิ์ประสาทจบจึงปล่อยมือ แล้วครูจึงทำพิธีครอบตามขั้นตอนที่จะเรียนดังนี้
- เรียนเพลงตระโหมโรง ครูก็จะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นตีเพลงตระโหมโรง ๓ ครั้ง
- เรียนเพลงโหมโรงกลางวัน ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ขึ้นต้นเพลงตระบองกัน ๓ ครั้ง เพราะเพลงในชุดโหมโรงกลางวันถือว่าเพลงตระบองกันเป็นเพลงสำคัญ
- เรียนหน้าพาทย์ชั้นสูง ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ ขึ้นต้นเพลงบาทสกุณี ๓ ครั้ง เพราะถือว่าเพลงบาทสกุณีเป็นเพลงสำคัญในประเภทหน้าพาทย์ชั้นสูง
- เรียนเพลงองค์พระพิราพ ครูจะจับมือให้ตีฆ้องวงใหญ่ทำนองเพลงตอนขึ้นต้นองค์พระ ๓ ครั้ง

................ เมื่อได้จับมือตีฆ้องวงใหญ่ขั้นใดแล้ว ก็จะต่อเพลงในขั้นนั้นกับผู้ใดก็ได้ไปจนจบเพลง และสามารถจะไปปฏิบัติเครื่องดนตรีอย่างอื่นได้ทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นระนาด ปี่ ตะโพน กลอง ได้ทั้งนั้น แต่ผู้เรียนตะโพนครูจะจับมือให้ตีตะโพนแทนฆ้องก็ได้
ส่วนการครอบเครื่องดนตรีอย่างอื่น เช่น สีซอ ดีดจะเข้ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย เหล่านี้ ตลอดจนการขับร้องด้วย ซึ่งมิได้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ เหมือนปี่พาทย์ สิ่งใดที่พอจะจับมือได้ เช่น ซอ จะเข้ ครูอาจจับมือให้สี หรือดีดก็ได้ แต่ใช้เพลงประเภทที่เครื่องดนตรีนั้นใช้บรรเลง หรือจะใช้ฉิ่งครอบที่ศรีษะของศิษย์ผู้นั้นก็ได้ การใช้ฉิ่งครอบที่ศรีษะนี้ ใช้ได้แก่การครอบเรียนดนตรีทุกอย่างที่ไม่สะดวกในการจับมือ อนึ่งการครอบที่จะเรียนปี่พาทย์เพลงองค์พระพิราพนั้น ยังมีแบบแผนประเพณีบัญญัติไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ที่จะเรียนเพลงองค์พระพิราพ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี หรือได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว หรือมิฉะนั้นจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะได้รับการครอบให้เรียนได้

ประโยชน์ของการไหว้ครู

การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูตามประเพณีที่ถูกต้องย่อมบังเกิดประโยชน์ได้หลายประการ คือ

๑. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป
๒. ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดีเป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไปรู้สึกกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์
๓. เป็นการบำรุงขวัญของผู้ที่ได้ร่วมในการพิธีไหว้ครูและครอบ เพราะว่าได้กระทำพิธีต่าง ๆ ครบถ้วนตามแบบแผนแล้วเวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีจิตใจมั่นคง และมีขวัญดี
๔. เป็นการเสริมความสามัคคีระหว่างดุริยางคศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธีไหว้นั้น บรรดานักดนตรีทั้งหลายแม้นจะอยู่คนละคณะก็มักจะมาร่วมในพิธีไหว้ครูด้วยกัน ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นอันดี เป็นการเชื่อมความสามัคคีในหมู่ดุริยางคศิลปินด้วยกันให้แน่นแฟ้น

 

top

กลับหน้าหลัก