... ซอสามสาย...

 

..........ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของไทยเรา ตามประวัติศษสตร์แล้วน่าจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีชื่อตามลักษณะรูปร่าง คือ มี 3 สาย เหมือนกับเครื่องดนตรีของ จีนที่เรียกว่า สานเสียน (Sanhsien) และเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ซามิเส็น (Shamisen) แต่ทั้งสานเสียนของจีน และซามิเส็นของญี่ปุ้น เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด สานเสียนของจีน กะโหลกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลบมุมจนเกือบเป็นรูปไข่ ขึ้นหน้า ด้วยหนังงูเหลือม และดีดด้วยนิ้วมือ ส่วนซามิเส็น ของญี่ปุ่น รูปกะโหลกเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยม ด้านข้างโค้งเล็กน้อยทั้งสี่ด้าน ขึ้น หน้าด้วยไม้ และดีดด้วยไม้ดีดรูปร่างคล้ายๆขวาน แต่เครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้ ก็มีสามสายเช่นเดียวกับซอสามสายเช่นเเดียวกัน

ซอสามสายมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ
.......เครื่องอุ้มเสียงให้เกิดกังวานทำด้วยกะลามะพร้าวตัดขวางลูก ให้เหลือพูทั้งสามไว้ด้านหลัง เรียกว่า “กะโหลก” กะลาสำหรับทำกะโหลก ซอสามสายนี้ จะต้องมีรูปร่างงดงามมีพูทั้งสามนูนขึ้นมาคล้ายลักษณะหัวช้าง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ทรงพระราชทาน “ตราภูมิคุ้มห้าม” ให้กับเจ้าของสวนมะพร้าวพันธุ์นี้ ไม่ต้องเสียภาษีอากรทำให้บรรดาเจ้าของสวนมะพร้าว ทั้งหลายมีกำลังใจที่จะทำนุบำรุงมะพร้าวพันธุ์พิเศษนี้ เพื่อไว้ทำซอสามสายได้ต่อๆ มาไม่ให้สูญพันธุ์ กะโหลกตรงที่ตัดออกนั้น ต้องขึงหน้าด้วยหนังลูกวัว หรือ หนังแพะ แต่ที่นิยมและมีคุณภาพเสียงดี หนังแพะจะได้คุณภาพที่ดีกว่า ดังปรากฎตามจดหมายเหตุ
พ.ศ. 2357 ในรัชกาลที่ 2 เป็นหนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ถึงพระยานครศรีธรรมราช ฉบับหนึ่งแจ้งว่า “ต้องพระราช ประสงค์หนังแพะที่ดีสำหรับจะทำซอ และกลองแขกเป็นอันมาก จัดหาหนังแพะที่กรุงเทพมหานครได้ดีไม่ จึงเกณท์มาให้เมืองนครจัดซื้อหนังแพะ ที่ดีส่งเข้าไป … จะเป็นราคาผืนละเท่าใด ให้บอกเข้าไปให้แจ้ง จะได้พระราชทานเงินราคาให้ “ คันซอสามสายที่เรียกว่า ทวนนั้น มีลักษณะกลม ตอนกลางค่อนข้างเล็ก ตอนบนและตอนล่างค่อยๆโตขึ้นทีละน้อย ปักเสียบกะโหลกตั้งขึ้นไป ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ทวนกลางหุ้มด้วยโลหะทำลวดลายสวยงาม เช่นถมหรือลงยา ทวนล่างต่อจากกะโหลกลงไป ใหญ่และค่อยๆเรียวเล็กลงไป กลึงเป็นปล้องๆอย่างงดงาม ต่อปลายด้วยโลหะแหลม สำหรับปักพื้นมิให้เลื่อนในเวลาสี ทวนบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิดเป็น 3 อัน ตรงท่อนล่างเจาะรูร้อยเส้นใหม 3 เส้นสั้นๆ สำหรับต่อสายซอ เรียกว่า “หนวดพราหมณ์” สายซอจะต่อกับหนวดพราหมณ์ จึงผ่านหน้าซอ แล้วร้อยเข้าไปในรูทวนตอนบน สอดเข้าผูกพันกับลูกบิดสายละอัน สายที่มีเสียงสูงเรียกว่า “สายเอก” สายรองลงมาเรียกว่า “สายกลาง” และสายที่มีเสียงต่ำเรียกว่า “สายทุ้ม” การเทียบเสียงให้เทียบเสียงห่างกันเป็นคู่สี่ทั้งสามสาย ( ซอล เร ลา ) ตรงกลางคันทวนมีเส้นใหม หรือเอ็น พันสายทั้งสามรัดติดกับทวนหลายๆรอบ เรียกว่า “รัดอก” ตอนกลางหน้าซอค่อนขึ้นมาข้างบนมีไม้ทำเป็นรูปสะพาน หนุนสายไม่ให้ติดกับหน้าซอ เรียกว่า “หย่อง” ด้านซ้ายของหน้าซอติด “ถ่วงหน้า” ซึ่งทำด้วยโลหะ มีน้ำหนักสมดุลกับหน้าซอเพื่อเป็นเครื่องสำหรับลดความสั่นสะเทือนของหน้าซอทำให้เพิ่มความไพเราะมากยิ่งขึ้น ถ่วงหน้านี้อาจประดับลวดลายฝังเพชรพลอย ให้งดงามก็ได้ คันชักซอสามสายทำเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าประมาณ 300 เส้น ตอนปลายของคันชักทำให้โค้งอ่อนปลับออกไป เพื่อให้จับได้สะดวก ไม้ที่ทำคันชักซอที่นิยมกันมากคือ ไม้แก้วที่มีลวดลายงดงาม คันชักซอสามสายนี้ มิได้สอดเข้าไปในระหว่างสายเหมือนซอด้วง ซออู้ เวลาจะสีจับเอาคันชักมีสีทาบบนสายซอ ประสงค์จะสีสายใหนก็ทาบบนสายนั้น ก่อนจะสีต้องเอา ยางสนถูให้หางม้ามีความฝืดเสียก่อน เพราะซอสามสายมิได้ติดยางสนไว้เหมือนซอด้วงหรือซออู้  ซอสามสายนี้มีผู้สร้างขึ้นมาอีกขนาดหนึ่งเป็นซอขนาดเล็กกว่าทั้งตัวซอและคันทวน มีความยาวประมาณ 1 เมตรเท่านี้น เข้าใจว่า จะสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะกับนักดนตรีหญิง เรียกซอคันนี้ว่า “ซอสามสายหลิบ” มีเสียงสูงกว่า ซอสามสายธรรมดา

การใช้คันชักซอสามสาย
         ความสำคัญของการบรรเลงซอสามสายให้ได้ดีนั้น การใช้คันชักเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากคุณภาพของเสียงซอ ที่ออกมาขณะที่สีซอสามสาย ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก และความเร็วของคันชัก มีข้อควรระวังในการสีซอสามสายก็คือต้องบังคับให้คันชัก อยู่ในแนวตรงขนานกับพื้นตลอดเวลา ห้ามเปลี่ยนแนวคันชัก หากจะเปลี่ยนจังหวะในการสีไปยังสายอื่น ก็ให้พลิกซอเพื่อเปลี่ยนสาย
ไปหาคันชักนั้น

การจับซอและการวางนิ้ว ในการสีซอสามสายการจับซอ ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายค้ำคันทวน เพื่อที่จะให้นิ้วมีกำลังที่จะบังคับซอให้พลิกหรือหมุนได้ ในระหว่างการบรรเลง โดยให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ซ้าย เป็นตัวบังคับซอได้
การวางนิ้ว
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สายเอก สายเปล่า มีเสียง ซอล
นิ้วชี้ มีเสียง ลา
นิ้วกลาง มีเสียง ที
นิ้วนาง มีเสียง โด
นิ้วก้อย มีเสียง เร (สูง)
นิ้วก้อย (รูด) มีเสียง มี (สูง)

หมายเหตุ
ทุกนิ้วบนสายเอกของซอสามสาย ให้ใช้ปลายนิ้วแตะข้างสาย แล้วแทงขึ้น ไม่ใช้กดลงไปบนสายสายกลาง สายเปล่า มีเสียง เร

(สายสอง) นิ้วชี้ มีเสียง มี
นิ้วกลาง มีเสียง ฟา
นิ้วนาง มีเสียง ซอล
ใช้ปลายนิ้วกดลงไปบนสาย
สายทุ้ม สายเปล่า มีเสียง ลา

(สายสาม) นิ้วชี้ มีเสียง ที
นิ้วกลาง มีเสียง โด
นิ้วนาง มีเสียง เร

วิธีแบ่งคันชักซอสามสายโดยปกติคันชักซอ ไม่ว่าจะเป็น ซอด้วง ซออู้ หรือ ซอสามสาย จะแบ่งคันชักออกได้เป็น 4 ส่วน การใช้คันชักจะมีชื่อเรียกดังนี้

  1. ใช้เต็มคันชัก เรียกว่า คันชักสี่ หมายความว่า เมื่อเริ่มต้นคันชักออกอยู่ในจังหวะฉิ่ง และเมื่อดันคันชักเข้าจะอยู่ในจังหวะฉับ ใช้ครึ่งคันชัก เรียกว่า คันชักสอง ใช้ ? คันชักเรียกว่า คันชักหนึ่ง ใช้ส่วนปลาย หรือ โคนคันชัก ร่วมกับคันชักสี่ เรียกว่า คันชัก หก
  2. ใช้เต็มคันชัก แต่กดนิ้วเป็นแปดเสียง เรียกว่าคันชักแปด

 

หลักเกณท์การฝึกซอสามสายหลักการฝึกหัดซอสามสายนั้น ท่านกล่าวไว้เป็นเชิงปริศนาว่า “สีซอให้เป็นทั้งสามท่า” หรือสามเพลง คำว่าท่า หมายความว่า มุ่งหมายถึงการสีแบบ ท่าพระ ท่านาง ท่ายักษ์ ส่วนคำว่าเพลง หมายถึงการสี แบบขับไม้ สีแบบไกวเปล และ สีแบบฉุยฉายการสีแบบขับไม้ มีหลักการสีที่สำคัญคือ ต้องพยายามสีเคล้าไปกับเสียงของคนขับลำนำ และผู้สีต้องใช้เสียงซอสนับสนุนให้สอดคล้องไปกับทำนองเพลง เพื่อเป็นการเสริมให้การขับร้อง หรือการขับลำนำนั้น มีชีวิตชีวา ผู้สีซอแบบขับไม้นี้ จะต้องเรียนรู้หลักการใช้คันชักด้วยว่า มีคันชักอะไรบ้าง เช่น คันชักสอง คันชักสี่ คันชักหก คันชักน้ำใหล คันชักงูเลื้อย เป็นต้นการสีแบบไกวเปล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการสีแบบลำลอง ผู้เริ่มหัดซอสามสายจะต้องฝึกหัดการสีแบบไกวเปลนี้เป็นเบื้องแรก ลักษณะของการสีเปรียบเสมือนกับการไกวของเปล ไป-มาให้สม่ำเสมอ ไม่ตะกุกตะกัก โดยสีไป-มาให้เท่าๆกัน ส่วนวิธีใช้คันสี ให้ใช้อัตรา 2-4 เป็นหลัก และต้องสีให้ซอมีเสียงดังทั้งต้นคันชัก และปลายคันชัก ทั้งไปและมาให้สม่ำเสมอมีเสียงเดียวกัน่ตลอดการสีแบบฉุยฉาย การสีแบบนี้ ผู้สีจะต้องบังคับเสียงซอ ให้มีความชัดเจนชัดถ้อยชัดคำ กับการขับร้องและบทร้องนั้น ทุกจังหวะทุกตอนและทุกกิริยา ผู้สีจะต้องสีและแสดงอารมย์ ให้เหมือนกับการขับร้องทุกขั้นทุกตอน จนผู้ฟังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเสียงซอ อะไรเป็นเสียงขับร้อง หากปฎิบัติได้ดังนี้ก็นับว่าเป็นผู้มีฝีมือคนหนึ่ง

นอกจากนั้นการฝึกซอสามสายให้ได้ดีนั้น จะต้องรู้จักนิ้วที่จะใช้ในเพลงด้วย เช่น นิ้วชุน
นิ้วแอ้ นิ้วนาคสะดุ้ง นิ้วประ นิ้วพรม และยังมีกลเม็ดอื่นๆอีก เช่น การเปิดซอ การชงักซอ ซึ่งจะต้องประกอบกับการใช้คันชักซอ ในการสีดังนี้ การใช้คันสีสายน้ำใหล เป็นการสีให้เสมือนประดุจสายน้ำที่ใหล โดยปราศจากเกาะแก่งไม่ขาดสาย ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า กระแสเสียงที่ออกไปไม่ขาดสาย ประดุจสายน้ำที่ใหลไปจนจบเพลง
การใช้คันสีงูเลื้อย เป็นการสีให้มีลักษณะเหมือนกับการเลื้อยของงู เนื่องด้วยงูนั้นยิ่งมีพิษร้าย จะมีลักษณะการเลื้อยที่เชื่องช้าน่าเกรงขาม ไม่หวั่นต่อศัตรู การสีแบบงูเลื้อยนี้ ลักษณะของเสียงซอที่ออกมา จะดังกังวานเป็นอย่างยิ่ง การใช้คันสีสะอึก การสีแบบนี้ผู้สีมีความประสงค์จะให้เสียงซอที่ออกมาขาดจังหวะ ทำให้ทำนองเพลงสะดุดหยุดลงในขณะนั้นอย่างเด็ดขาด เป็นช่วงๆ

........การใช้คันสีผิด และคันสีถูก คันสีของซอสามสายนั้น
เมื่อดึงออกมาเรียกว่า “คันสีเกิด”ซึ่งจะตรงกับจังหวะ ฉิ่ง
เมื่อดันคันสีเข้าไป เรียกว่า “คันสีดับ” จะตรงกับจังหวะ ฉับ
ผู้สีซอสามสายจะต้องคำนึง และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย


 

top

กลับหน้าหลัก