เครื่องดนตรีไทย

 

เรื่อง ...เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่มากมายหลายชนิด สามารถนำมาจัดหมวดหมู่และจำแนกประเภทตามวิธีการเล่นได้เป็น 4 ประเภท คือ “ดีด สี ตี เป่า”
1. เครื่องดีด ได้แก่ เครื่องดนตรีที่เล่นด้วยการใช้นิ้วหรือที่ดีด ดีดสายให้เกิดเสียง
2. เครื่องสี ได้แก่ เครื่องดนตรีที่เล่นด้วยการใช้คันชักสีไปมาที่สายให้เกิดเสียง
3. เครื่องตี ได้แก่ เครื่องดนตรีที่เล่นด้วยการใช้มือตีหรือไม้ตี ตีให้เกิดเสียง
4. เครื่องเป่า ได้แก่ เครื่องดนตรีที่เล่นด้วยการใช้ปากเป่าทำให้เกิดเสียง
ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง “เครื่องดนตรีไทย” เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียงเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงกันอยู่ในวงดนตรีไทยทั่วๆ ไปเท่านั้น ความจริงแล้วเครื่องดนตรียังมีอีกมากมายรวมถึงเครื่องดนตรีไทยโบราณที่เลิกใช้ไปแล้วหรือเครื่องดนตรีไทยที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ และเครื่องดนตรีไทยพื้นเมืองของภาคต่างๆ ในเอกสารนี้จะรวมเครื่องดนตรีทุกประเภทไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะรวบรวมได้

ประเภทเครื่องดีด
เครื่องสายมีกะโหลกเสียง ใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีดให้สายสะเทือนเกิดเสียง เป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในภาคตะวันออกก่อนแล้วฝรั่งนำเอาไปสร้างเป็นเครื่องสายชนิดต่างๆ เช่น แมนโดลิน เป็นต้น เครื่องสายที่ใช้ดีดเรียกตามบาลีและสันสกฤตว่า “พิณ” แต่เดิมเชื่อว่า กะโหลก คงทำด้วยเปลือกผลน้ำเต้า ต่อมาได้วิวัฒนาการทั้งขนาดและรูปร่างจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป

จะเข้

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี 3 สายเข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย โดยได้ประดิษฐ์ให้นั่งดีดได้สะดวกและให้ไพเราะยิ่งขึ้น โดยเหตุที่แต่เดิมนั้นตัวพิณทำรูปร่างเหมือนจระเข้ จึงเรียกเครื่องดนตรีนี้เพียงสั้น ๆ ว่า “จะเข้” ไทยรู้จักจะเข้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงเครื่องสายและวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมากทำให้กระจับปี่ ค่อยๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหากผู้เล่นเป็นน้อย ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม.ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอดรวมกัน ยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้าวัดจาก ปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลาง ให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหาง ก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า “นม” รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม. เวลาบรรเลง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย
จะเข้ใช้บรรเลงร่วมในวงเครื่องสายไทยและวงมโหรี หรือใช้บรรเลงเดี่ยวประกอบการแสดง “ฟ้อนแพน”


กระจับปี่
กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง เมื่อพิจารณารูปร่างแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากพิณ 4 สาย (พิณของภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งมีวิวัฒนการมาจากพิณเพี้ยะอีกทีหนึ่ง) โดยการประดิษฐ์ขัดเกลารูปร่างให้ปราณีตสวยงามขึ้นเหมาะสมกับการจะนำไปใช้ในพระราชสำนักสำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ เหตุที่เรียกว่ากระจับปี่นั้นเพราะว่าเสียงที่เรียกนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “กัจฉปิ” ซึ่งเป็นภาษาชวา และเพี้ยนมาอีกต่อหนึ่งจากคำว่า “กัจปะ” เป็นภาษาบาลี แปลว่า “เต่า” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกะโหลกมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า ก็ได้ กระจับปี่นั้นทำด้วยไม้เนื้อแก่น มีน้ำหนักมาก ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ
แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัวกะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้
จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียงในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ ร้องเพลง
เรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น “ ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับ บรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
ซึง
ซึง เป็นเครื่องดนตรีชนิดดีด มี 4 สาย มีขนาดเล็กกว่ากระจับปี่ ซึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากพิณเพี้ยะ ซึงมีความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ 81 ซม. กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 21 ซม. ทั้งกะโหลกและคันทวน ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่หรือไม้สักชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรงตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนทำเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้วจำนวน 9 อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ 2 อัน รวมเป็น 4 อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย 4 สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก 2 สาย และสายใหญ่ 2 สาย
ซึงเป็นเครื่องดีดของชาวไทยทางภาคเหนือนิยมเล่นกันมาช้านาน ตามปกติใช้เล่นร่วมกับปี่ซอ และ สะล้อและบางครั้งใช้ดีดเดี่ยว หรือพวกหนุ่มๆ ใช้ดีดเล่นขณะไป “แอ่วสาว”
พิณ
เป็นเครื่องดนตรีที่มีกล่าวถึงไว้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในสมัยสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า “เสียงพาทย์” “เสียงพิณ” เข้าใจว่าไทยคงจะได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะดูตามรูปศัพท์ของคำว่า “พิณ” เป็นคำในภาษาบาลี ของอินเดียและเข้าใจว่า พราหมณ์เป็นผู้นำเข้ามาเล่นกันก่อน เพราะมีเพลงไทยโบราณ เพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พิณมี 2 ชนิด คือ พิณน้ำเต้าและพิณเปี๊ยะ
พิณน้ำเต้า เป็นพิณสายเดียว กะโหลกพิณทำมาจากผลน้ำเต้าผ่าครึ่งเอาทางจุกหรือขั้วมาเจาะตรึงติดกับไม้คันพิณหรือ ทวน ใช้สายยาวประมาณ 78 ซม. (เดิมเป็นสายหวายต่อมาใช้สายเอ็น) ขึงผ่านจากด้านปลายไปยังด้านโคน (ด้านที่มีกะโหลก) ซึ่งมีลูกบิด 1 อัน สำหรับบิดสายให้ตึงหรือหย่อนเพื่อทำให้เสียงสูง หรือต่ำ วิธีเล่น เอากะโหลกพิณประกบติดกับอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น โดยใช้มือซ้ายจับคันทวนแล้วใช้มือกดหรือเผยอสายให้ตึงหรือหย่อน ใช้มือขวาดีดสายให้เกิดเสียง ดังนั้นผู้บรรเลงพิณจะต้องไม่สวมเสื้อและคงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นั้เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้พิณเปี๊ยะ
เปี๊ยะ หรือพิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพียะ เข้าใจว่ามีวิวัฒนาการมาจากพิณน้ำเต้าโดยการเพิ่มจำนวนสายเข้าไป พิณเพี้ยะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองลานนาชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาว ประมาณ 1 เมตรเศษตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้างทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าวก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิด ปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับลำนำ ในขณะที่ไปเที่ยวสาว แต่เกิดการแย่งสาวกันขึ้น จึงใช้พิณเปี๊ยะเป็นอาวุธทำร้ายกันจึงได้มีการห้ามไม่ให้มีการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้อีก ทำให้พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
พิณเพี้ยะนิยมดีดคลอไปกับการขับร้อง

พิณ
พิณพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ซุง หมากจับปี่ หมากต้องโต่ง และหมากตับแต่ง มีสายตั้งแต่ 2-4 สาย ชนิดที่มี 4 สาย ก็คล้ายกับซึงของภาคเหนือ แต่ปลายกะโหลกพิณป้านกว่า พิณพื้นเมืองภาคนี้ทำด้วยไม้เนื้อแข็งประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่สู้จะประณีตนัก ใช้เล่นเดี่ยวหรือเล่นรวมวงกับแคนและโปงลาง
จ้องหน่อง หึนหรือหุน
เป็นเครื่องดีด ทำด้วยไม้ไผ่เหลาบางๆ ยาว 12-15 ซม. กว้าง 1.5 ซม. หนา 0.5 ซม. ตรงกลางเซาะร่องให้เป็นลิ้นในตัว ปลายด้านหนึ่งสำหรับจับ อีกด้านหนึ่งใช้ดีดด้วยนิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วชี้ เวลาเล่นประกบลิ้นจ้องหน่องเข้ากับปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มใช้เป็นกล่องเสียง สามารถทำเสียงได้ 2-3 เสียง เท่านั้น ดีดเป็นทำนองได้เล็กน้อย เครื่องดนตรีชนิดนี้ใช้เล่นกันมาแต่โบราณ โดยมากใช้เล่นคนเดียวในยามว่าง เป็นที่นิยมกันทางแถบอีสานเหนือ
พิณไห
เป็นเครื่องประกอบจังหวะในวงดนตรีพื้นเมืองภาคอีสาน ทำด้วยไหซองหรือไหกระเทียม ใช้ยางเส้นหนาๆ ขึงที่ปากไห เวลาเล่นใช้มือดึงเส้นยางให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ อย่างไรขึ้นอยู่กับขนาดของไห และการขึงเส้นยางให้ตึงหย่อนต่างกัน พิณไหใช้เล่นประกอบจังหวะในวงโปงลาง แคน พิณ ปกติชุดหนึ่งมี 2-3 ลูก หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ โดยมากมักใช้หญิงสาวแต่งตัวพื้นเมืองสวยงาม ยืนเล่นลีลาอ่อนช้อยตามจังหวะเป็นที่สะดุดตาในวง
ประเภทเครื่องสี
เครื่องสีเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงหรือเล่นโดยใช้คันชักสีเข้ากับสายทำให้เกิดเสียง เครื่องสีเป็นประเภทเครื่องสายอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังเครื่องดีด เราเรียกเครื่องสายประเภทนี้ด้วยคำไทยว่า “ซอ” ซอที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด คือ ซอสามสาย ซอด้วง และซออู้
ซอสามสายซอสามสาย เป็นซอที่คนไทยนิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากแต่เป็นที่นิยมกันว่าไพเราะและสอดประสานเข้ากับเสียงขับร้องของนักดนตรีไทยได้สนิทสนมดี กะโหลกซอสามสายทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกะพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวน 3 อันวางอยู่ในรูปสามเหลี่ยมจึงเป็นสามเส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม 3 เส้าเป็นกะโหลกซอ แล้วขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ปรากฎหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า “….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ น่าเกลียดมากมีสามสายเรียกว่า “ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกันและลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้ จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยะในทางด้านศิลปะต่างๆ เช่น ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีตงดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนต่างๆ ของซอสามสาย มีชื่อเรียกดังนี้
(1) ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้านข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอที่สอดออกมาจากรัดอกหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้ายๆ กับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมาทางทวนบนนี้ได้
(2) ทวนล่าง คือ ส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัดประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน และเป็นที่สำหรับผูก “รัดอก” เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่างยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่างๆ
(3) พรมบน คือ ส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ
(4) พรมล่าง คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของพรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อย”หนวดพราหมณ์” เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและเหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น “เกลียวเจดีย์” และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอดแหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับกะโหลกซอ
(5) ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ติดอยู่ตรงหน้าซอตอนบนด้านซ้าย เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น ปกติทำด้วยเงินลงยาหรือทำด้วยทองคำฝังเพชรก็มี
(6) หย่อง เป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังหน้าซอ ทำด้วยไม้ไผ่ แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น
(7) คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศรโค้ง แยกออกจากตัวซอ โดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงาม
ซอสามสายนี้ใช้บรรเลงร่วมในวงมโหรีหรือบรรเลงคลอกับคนร้องและใช้บรรเลงคู่กับกระจับปี่
ซอด้วงซอด้วง เป็นซอ 2 สาย มีคันทวนยาวประมาณ 72 ซม. ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้แก้ว หรือทำด้วยงาตันก็มี คันชักยาวประมาณ 68 ซม. ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม. ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม. กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนัง งูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะขอซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า “ฮู – ฉิน “ (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกัน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
ซอด้วงมีเสียงสูง ดังแหลมกว่าซออู้ใช้บรรเลงร่วมในวงเครื่องสายและวงมโหรี คู่กับซออู้ตลอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ซออู้
ซออู้ เริ่มมีใช้ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นซอ 2 สาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดกลมรีขนาดใหญ่ โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงขึ้นหน้าซอกว้างประมาณ 13 – 14 ซม. เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนหรือคันซอซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม. ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้แก้ว หรือทำด้วยงาตันก็มี ใช้สายซอ 2 สายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม. โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วยไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม. ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เรียกว่า “หมอน” เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุนสายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆ กับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเองซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ปละ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ อก และเอาทับกับรำมะนาและขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด 6 คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย
ซออู้ใช้บรรเลงร่วมในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
สะล้อสะล้อ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของพื้นเมืองลานนา (ภาคเหนือ) ชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบางๆปิดปากกะลาทำหลักที่หัว สำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่างๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลงข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม. ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวายปลายคันทวน ด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูป
โค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้
สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้อง หรือใช้ผสมกับซึงและปี่ซอประกอบบทขับร้องเพลงพื้นเมืองก็ได้
ซอกระดองเต่าหรือซอเขาควาย
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กะโหลกซอทำด้วยกระดองเต่าตัดส่วนหน้าออก หรือทำด้วยเขาควายตัดขนาดตามความต้องกรแล้วขึงด้วยหนังงู คันซอทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 40 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 2 อัน สายซอใช้สายลวด คันชักอยู่ระหว่างสายซอทั้ง 2 สาย ซอชนิดนี้เป็นที่นิยมในแถบอีสานใต้ ชาวบ้านเล่นกันมานานแล้ว ใช้บรรเลงเดี่ยวในวงกันตรึม และบรรเลงเพลงพื้นบ้านอีสานใต้

ซอบั้ง
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซอบั้งเป็นซอของชาวภูไท ทำจากกระบอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านเรียก ไม้โกะ) โดยใช้กระบอกไม้ไผ่ชิ้นเดียวกัน เป็นทั้งกะโหลกซอและคันซอไปในตัวโดยช่างทำซอจะเหลากระบอกให้บาง ทำหน้าที่คล้ายหนังหุ้มกะโหลกซอ ซอบั้ง มี 2 สาย เป็นสายลวด คันชักอยู่นอกสาย เวลาสีต้องสีให้ถูกทั้ง 2 สาย ตลอดเวลา เพื่อให้ได้เสียงที่เป็นทำนองและเสียงประสานควบคู่กันไป ซอชนิดนี้นิยมใช้สีประสานเสียงกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ประกอบการฟ้อนภูไท
ซอปิ๊บ
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซอปิ๊บเป็นซอ 2 สาย เป็นสายลวด กะโหลกซอทำจากปิ๊บน้ำมันก๊าด หรือปิ๊บขนม คันชักอาจจะอยู่ระหว่างสายหรือจะอยู่ข้างนอกก็ได้ แต่ส่วนมากนิยมให้อยู่ข้างนอก ซอปิ๊บใช้สีเดี่ยวหรือสีคลอเสียงหมอลำ
ซอกระป๋อง
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซอกระป๋องเป็นซอ 2 สาย เช่นเดียวกับซอปิ๊บ เพียงแต่กะโหลกซอทำจากกระป๋อง และคันชักอยู่ระหว่างสายทั้งสอง นิยมใช้สีประกอบการขับร้องหรือสีเพลงลายพื้นเมืองของแคน
ประเภทเครื่องตี
เครื่องตีนับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภทแรกที่มนุษย์คิดขึ้นเพราะมีลักษณะการเล่นง่ายกว่าชนิดอื่นได้มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ เครื่องตีที่ใช้ในวงดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ
1. เครื่องตีทำด้วยไม้
2. เครื่องตีทำด้วยโลหะ
3. เครื่องตีขึงด้วยหนัง
1. เครื่องตีทำด้วยไม้
ระนาดเอก
ระนาดเอก คำว่า “ระนาด” เป็นคำไทย แผลงมาจากคำว่า “ราด” หมายถึง การวางเรียงแผ่ออกไป นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญของวงปี่พาทย์ไทย ระนาดเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจาก กรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่าถ้าเอากรับหลายๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียงและใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆ กันนั้นว่า “ลูกระนาด” เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดนี้ทำด้วยไม้ไผ่บง (หรือไผ่ตง) ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง ก็ได้แต่ที่นิยมว่าเสียงไพเราะก็คือ ไม้ไผ่ตง โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางโค้งเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้นเรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า “โขน”
ระนาดเอก ในปัจจุบันมีจำนวน 21-22 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม. กว้างราว 5 ซม. และหนา 1.5 ซม. มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม. เมื่อนำผืนระนาดมาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม. มีเท้ารองรางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า
ระนาดเอก เสียงเล็กแหลมดัง ทำหน้าที่แปลลูกฆ้องให้เป็นทำนองเต็มที่เรียกว่าทางเก็บ มีกลเม็ดสลับซับซ้อนมีเก็บ สะบัด ขยี้ ฯลฯ และบรรเลงนำวงในการขึ้นต้นและจบเพลง ผู้บรรเลงจะต้องมีความสามารถ มีความชำนาญ เพราะระนาดมีเสียงดังเด่น และเป็นเสียงนำในวงปี่พาทย์ ไม้ตีระนาดเอกมี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง ทำให้เกิดเสียงดังเกรี้ยวกราดและไม้นวมทำให้เสียงนุ่มนวลไพเราะ
ระนาดทุ้มระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียวกันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีขนาดใหญ่กว่านะนาดเอก ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้ม ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม. กว้าง 6 ซม. และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอดที่มีขนาดยาว 34 ซม. กว้าง 5 ซม. รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อเป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม. ปากรางกว้างประมาณ 22 ซม. มีเท้าเตี้ยๆ รองไว้ 4 มุมราง
ระนาดทุ้มทำหน้าที่แปลลูกฆ้องให้เป็นทำนองเต็มแบบหยอกล้อตลกคนอง มีกลเม็ด ในการตีแบบขัด ล้วง ล้ำไปข้างบ้างและหน่วงไปข้างหลังบ้าง ใช้ตีสอดประสานกับระนาดเอกเพื่อทำให้เพลงมีความไพเราะสนุกสนานยิ่งขึ้น ไม้ตีอ่อนนุ่มกว่าระนาดเอก มีแบบเดียวคือไม้นวม
โปงลาง
เป็นเครื่องตี ทำด้วยไม้ร้อยต่อกันจำนวน 12 ท่อน ร้อยด้วยเชือกเป็นผืน แต่ละท่อนมีขนาดและความยาวลดหลั่นกันตามลำดับจากใหญ่ลงมาหาเล็ก เวลาเล่นใช้ด้านใหญ่ (ด้านบน) แขบนกับกิ่งไม้หรือไม้ขาตั้ง ด้านเล็ก (ด้านล่าง) ใช้เท้าผู้เล่นหือทำที่เกี่ยวยึดไว้ มักใช้ผู้เล่น 2 คน คนหนึ่งเล่นทำนองเพลงเรียก “หมอเคาะ” อีกคนหนึ่งทำหน้าที่ เคาะประสานเสียงทำจังหวะเรียก “หมอเสิร์ฟ” โปงลางมีเสียง 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา ไม่มีเสียง ฟา และ ที เครื่องดนตรีชนิดนี้กำเนิดขึ้นทางแถบเทือกเขาภูพานก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่นๆ เดิมมีชื่อเรียกว่า “ขอลอ” ส่วนโปงลางเป็นชื่อทำนองเพลงซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากเสียงกระดิ่งที่คอวัว เมื่อบรรเลงเพลงโปงลางบ่อยๆ เข้าก็เลยเรียกชื่อเครื่องดนตรีนี้ว่าโปงลางไม่นิยมเรียก “ขอลอ” กัน ทำนองเพลงสำหรับโปงลางได้จากการเลียนเสียงของธรรมชาติและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเรียกทำนองเพลงว่า “ลาย” เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายโปงลาง ลายแม่ร้างกล่อมลูก เป็นต้น โดยทั่วไปโปงลางใช้สำหรับตีเล่นในยามว่างต่อมาได้นำมาใช้บรรเลงร่วมกับครื่องดนตรีชนิดนี้อื่นๆ ประกอบการแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน เช่น เซิ้ง รำโปงลาง เป็นต้น

กรับ
กรับ เครื่องดนตรีที่เรียกว่า กรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และ กรับเสภา
กรับคู่ กรับคู่นั้น ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม. ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง “กรับ” มีผู้ประดิษฐ์เป็นไม้จริงบ้าง
กรับพวง เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆ หรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆ อันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้
2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาน เช่น ในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะ “รัวกรับ”และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย
กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น มักทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม. หนาประมาณ 5 ซม. เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยมออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลางมือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า “กรับเสภา”
โกร่ง
ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 1-2 วา ปาดเป็นรูยาวไปตามปล้องสลับหรือปาดทุกปล้องก็ได้เพื่อให้เสียงก้อง การตีใช้ไม้รองข้างท้ายด้วยซีกไม้ไผ่ ประกอบการเชิญทรงเจ้าเข้าผี บรรเลงร่วมกับปี่พาทย์ เช่น การแสดงหนังใหญ่ โขน ละคร นอกจากนั้นใช้ในการรำแม่ศรีหรือเข้าแม่ศรีซึ่งเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งที่เล่นเฉพาะตรุษสงกรานต์
เกราะ
ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ มีข้อหัวท้าย ผ่าบากท้องปล้องตามยาว ใช้ไม้ตีหรือเคาะ อาจใช้หลายๆ ลูกเจาะรูร้อยด้วยเชือกหรือหนังหิ้วหรือผูกแขวน สำหรับเขย่าหรือจับกระทบกัน ใช้เป็นเครื่องสัญญาณบอกเหตุ ในการแสดงละครก็นำมาใช้ได้บ้าง
กราว หรือ กรับชัก
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหลาบางๆ กว้างประมาณ 1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 9 นิ้ว จำนวน 6-10 อัน นำมาร้อยติดกันเป็นพวง (เช่นเดียวกับกรับพวง) โดยเจาะรูตรงกลาง สวมกับหลักซึ่งตรึงกับฐานไม้หนาๆ อันบนสุดมีมือจับ เวลาเล่นใช้มือจับอันบนสุดยกขึ้นแล้วกระแทกลงตรงๆ เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ กราวหรือกรับชักนิยมใช้เล่นประกอบจังหวะการแสดงโนราอย่างเดียว เพราะเสียงดังหนักแน่นมาก
2. เครื่องตีทำด้วยโลหะระนาดเอกเหล็ก หรือระนาดทอง
ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลืองจึงเรียกกันว่า ระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็กหรือสแตนเลส ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้น
ของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม. กว้างประมาณ 5 ซม. ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม.รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้
ระนาดเอกเหล็ก มีวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับนะนาดเอกไม้ ทำหน้าที่แปลลูกฆ้องให้เป็นทำนองเต็มที่เรียกว่าทางเก็บ
ระนาดทุ้มเหล็กระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่ทำให้ใหญ่กว่าระนาดเอกเหล็กเป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. และลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม. กว้างประมาณ 5.5 ซม. ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากรางกว้างประมาณ 20 ซม. มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้างประมาณ 36 ซม. มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซม.
ระนาดทุ้มเหล็กมีวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดทุ้มไม้
ระนาดทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี 2 อัน สำหรับระนาดเอกทำไม้ตีเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งทำหัวไม้ตีให้แข็ง เมื่อตีจะมีเสียงดังเกรียวกราว เมื่อนำเข้าผสมวงจะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ไม้ตีให้อ่อนนุ่ม เมื่อตีจะเกิดเสียงนุ่มนวล เวลานำระนาดเอกที่ใช้ไม้ตีชนิดนี้มาผสมวง จะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้นวม”
ลักษณะไม้ตีระนาดมีดังนี้
(1) ไม้แข็ง ปลายไม้ระนาด พอกด้วยผ้าชุบน้ำรักจนแข็ง
(2) ไม้นวม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันแล้วถักด้วยด้ายจนนุ่ม
(3) ไม้ตีระนาดทุ้ม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เพื่อตีให้เกิดเสียงทุ้ม
(4) ไม้ตีระนาดเหล็ก ปลายไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะรูตรงกลาง แล้วเอาไม้เป็นด้ามสำหรับถือมีขนาดใหญ่กว่าไม้ตีระนาดเอกธรรมดา
(5) ไม้ตีระนาดทุ้มเหล็ก ทำลักษณะเดียวกับไม้ตีฆ้องวง แต่ปลายไม้พันด้วยหนังดิบ เพื่อให้แข็งเวลาตี จะเกิดเสียงได้

ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการขึ้นมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ และฆ้องราว วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้าน สูงประมาณ 24 ซม. ระหว่างหวายเส้นนอกกับหวายเส้นในห่างกันประมาณ 14 – 17 ซม. ดัดให้โค้งเป็นวงรอบตัวคนนั่งตี เปิดช่องด้านหลังคนตีเป็นทางเข้า ระยะห่างประมาณ 20 – 30 ซม. วงฆ้องต้องดัดให้พอดีสำหรับคนเข้าไปนั่งตีได้ไม่อึดอัด ลูกฆ้องวงหนึ่งมี 16 ลูก ลูกขนาดใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับ ตั้งแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 ซม. อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ซม. อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี ไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะกลางสอดด้ามไม้สำหรับถือ
ฆ้องวงใหญ่ ทำหน้าที่ดำเนินแม่บทหรือหลักอันเป็นทำนองเพลงที่แท้จริงของวงดุริยางค์ไทย ซึ่งเรียกว่า “ลูกฆ้อง” หมายถึง ทำนองพื้นฐานเครื่องตีชนิดอื่น จะแปลลูกฆ้องไปตามแนวของแต่ละชนิด ฆ้องวงใหญ่ใช้บรรเลงทำนองหลักของเพลง ผู้ที่จะหัดปี่พาทย์ควรเริ่มหัดตีฆ้องวงใหญ่ก่อนเพื่อจะได้เป็นรากฐานทางดนตรีที่มั่นคง
ฆ้องวงเล็ก
ฆ้องวงเล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้องมากกว่าฆ้องวงใหญ่ คือ 18 ลูก วัดจากขอบวงในด้านซ้ายมือถึงของวงในด้านขวา กว้างประมาณ 80 ซม. เรือนฆ้องสูง 20 ซม. ฆ้องวงเล็กมีทั้งหมด 18 ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 13 ซม ลูกยอดมีขนาดประมาณ 9.5 ซม. ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ ในวงปี่พาทย์วงหนึ่งๆนั้น จะใช้ฆ้อง 2 วง คือ ฆ้องวงใหญ่ และ ฆ้องวงเล็ก
ฆ้องวงเล็กใช้บรรเลงเช่นเดียวกับระนาดเอก
ฆ้องมอญ ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้งขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่า หน้าพระ ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่งๆ มีจำนวน 15 ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์รามัญ หรือปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมี 2 ชนิดเช่นเดียวกับฆ้องไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ
ฆ้องโหม่ง
เป็นฆ้องที่มีหน้ากว้างวัดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 30-45 ซม. เมื่อตีเสียงจะดัง “โหม่ง โหม่ง” จึงเรียกตามลักษณะเสียงที่ดัง เรียกว่า “ฆ้องโหม่ง” เครื่องดนตรีชนิดนี้ เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่มีคู่มากับกลอง เดิมใช้ตีบอกเวลากลางวัน จึงเรียกเวลากลางวันว่า “โมง” ติดปากมาจนทุกวันนี้ ฆ้องโหม่งใช้ตีเป็นจังหวะในการบรรเลงดนตรี
ฆ้องราว
เป็นฆ้อง 3 ใบมีขนาดลดหลั่นกันใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาดเมื่อตีตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเสียง (เสียงตีฆ้อง) โหม่ง – โม่ง – โม้ง – โมง – โหม่ง เคยใช้บรรเลงเล่นในมหรสพโบราณ ชื่อ “ระเบง” หรือโอละพ่อ ในงานพระราชพิธี บางครั้งจึงเรียกว่า “ฆ้องระเบง”
ฆ้องชัย (ฆ้องหุ่ย)
เป็นฆ้องขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 ซม. เวลาตีเกิดเสียงดังกระหึ่มได้ยินไกล ฆ้องชนิดนี้เรียกตามเสียงที่ได้ยินว่า “ฆ้องหมุ่ย” หรือ “ฆ้องหุ่ย” และยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฆ้องชัย” เพราะใช้ฆ้องนี้จีในงานพิธีมงคลต่างๆ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย
ฆ้องราง
เป็นฆ้องที่ทำรางสำหรับแขวนลูกฆ้องจำนวน 7 ลูก หรือ 8 ลูก เทียบเสียงสูงต่ำลดหลั่นกันลงไปจนครบ 7 หรือ 8 เสียง ใช้บรรเลงทำนองเพลงได้ ปัจจุบันไม่ได้ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย
ฆ้องเหม่ง
เป็นฆ้องขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 19 ซม. ใช้ตีเดี่ยวในการบรรเลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “บัวลอย”
ฆ้องคู่
เป็นฆ้องขนาดเล็กจำนวน 2 ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ใบหนึ่งเสียง อีกใบหนึ่งเสียงสูง ใช้ผูกคว่ำไว้บนรางที่มีลักษณะเป็นหีบไม้ เวลาตีเกิดเสียงดัง โหม่ง-เม้ง ใช้บรรเลงร่วมกับวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโนราห์และละครชาตรี และนิยมเล่นประกอบการแสดงหนังตะลุง
วงฆ้องชัย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงปรับปรุงวงปี่พาทย์ สำหรับบรรเลงประกอบละครดึกดำบรรพ์ พระองค์ได้ทรงนำเอาฆ้องชัยมาปรับเสียงเรียงตามลำดับ 7 เสียง สำหรับตีเป็นจังหวะต่างๆ ตามเสียงของทำนองเพลงประกอบการบรรเลงวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ที่ใช้กับการแสดงละครดึกดำบรรพ์
ฆ้องกระแต
เป็นฆ้องขนาดเล็กแต่หล่อหนา
มโหระทึก
เป็นกลองชนิดหนึ่งแต่เป็นกลองหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะผสมทองแดง ตะกั่ว และดีบุก กว้าง 65 ซม. สูง 53 ซม. ก้นกว้าง 70.5 ซม. และเอว 50 ซม. คอดเป็นเส้นโค้งบนหน้ากลางแคบ ใกล้ขอบมีหอยโข่ง 4 ตัว ประจำ 4 ทิศ กลองมโหระทึก แม้จะเรียกว่ากลองแต่ก็ทำด้วยโลหะ จึงนำมารวมเข้ากลุ่มเครื่องตีประเภทโลหะ ใช้ในพระราชพิธีและกระทำกิจของสงฆ์
ฉิ่งฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ประเภทเครื่องประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะ คือ ทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม รูปร่างคล้ายถ้วยชาไม่มีขอบก้น สำรับหนึ่ง (1 ชุด) จะมี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่าศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม. เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม. เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง “ฉิ่ง” แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆ ดัง “ฉับ” ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ฉิ่งใช้กำกับจังหวะเพลงไทย รวมทั้งเพลงร้องและเพลงบรรเลงของวงดนตรีไทย และฉิ่งนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากเพราะผู้เล่นจะต้องมีความสามารถในเรื่องจังหวะและรู้อัตราจังหวะของเพลงที่บรรเลงเป็นอย่างดี

ฉาบ
ฉาบ เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ประเภทเครื่องประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะเหมือนกันคล้ายกับฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ตอนกลางเป็นปุ่มกลมเป็นกระพุ้งขนาดวางลงในอุ้งมือได้ ขอบนอกแบนราบโดยรอบ เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก ฉาบมี 2 ชนิดคือ“ฉาบเล็ก” และ “ฉาบใหญ่” ฉาบเล็ก ใช้ตีขัดจังหวะ มีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม. ส่วนฉาบใหญ่ ใช้ตีตรงจังหวะมีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม. เวลาบรรเลงใช้ฝา 2 ฝามาตีกระทบกัน ให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็จะเกิดเสียง “ฉาบ” แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น3. เครื่องตีขึงด้วยหนัง
เครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง (อะวะนัทธะ) แทบทุกชนิดของไทยดูเหมือนจะเรียกว่ากลองกันแทบทั้งนั้น เครื่องตีที่ขึงด้วยหนังมี ดังนี้
ตะโพน
ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุน เรียกว่า “หุ่น” ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า “หนังเรียด” หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ 25 ซม. เรียกว่าหน้า “เท่ง” ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 22 ซม. เรียกว่า “หน้ามัด” ตัวกลองยาวประมาณ 48 ซม. รอบๆ ขอบหนังที่ขึ้นหน้าถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า “รัดอก” ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่างๆ ของเพลงไทยในวงปี่พาทย์ ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เหตุที่ต้องกราบไหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตีเป็นคนแรก ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆ ทั้งหมด
ตะโพนมอญ
มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับตะโพนไทย แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวกลองยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ทั้งรูปร่างก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ตะโพนไทยรูปร่างป่องกลาง ส่วนตะโพนมอญรูปร่างใหญ่ด้านหนึ่ง และเรียวเล็กลงอีกด้านหนึ่ง ใช้ตีกำกับจังหวะคู่กับเปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญ
เปิงมาง
เป็นคำมอญที่ใช้เรียกเครื่องหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างเป็นกระบอก เป็นกลองสองหน้ามีห่วงหนังผูกโยงสำหรับคล้องคอ ใช้ตีนำกลองชนะในขบวนเสด็จพยุหยาตรา
เปิงมางคอก
คือเปิงมางที่ใช้กันในวงปี่พาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน 7 ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป จากใหญ่ไปหาเล็กและติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูกเทียบเสียงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี คอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้นมักประดิษฐ์อย่างสวยงาม เช่น ประดับกระจกสี ใช้ตีประสานคู่กับตะโพนมอญในวงปี่พาทย์มอญ
กลองสองหน้า
คือเครื่องหนังที่สร้างเลียนแบบเปิงมางนั่นเอง แต่ขยายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างที่กว้างกว่าใช้ตีด้วยมือซ้าย หน้าที่เล็กกว่าตีด้วยมือขวาติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้น เพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำจนคล้ายตะโพน ใช้ตีประกอบจังหวะแทนตะโพนในวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่บรรเลงประกอบการขับเสภาหรือร้องส่งอย่างสามัญเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2

กลองชนะ
รูปร่างเหมือนกลองมลายูแต่สั้นกว่า แต่เดิมใช้ตีเป็นจังหวะในการฝึกเพลงอาวุธ จึงเรียกกลองชนิดนี้ว่า กลองชนะ เพื่อเป็นมงคล ในสมัยต่อมาใช้ตีเป็นเครื่องประโคมในขบวนเสด็จพยุหยาตรา
กลองมลายู
รูปร่างคล้ายกลองแขกแต่สั้นและอ้วนกว่า หน้ากลองกว้างกว่า การตีกลองชนิดนี้หน้าใหญ่ตีด้วยไม้งอๆ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ ไทยนำมาใช้ในขบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านาย ภายหลังนำมาใช้บรรเลงประโคมศพในวงบัวลอยและวงปี่พาทย์นางหงส์ โดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี 4 ลูก ภายหลังได้ลดลงเหลือเพียง 2 ลูก คือตัวผู้และตัวเมีย เพื่อใช้บรรเลงคู่กันเหมือนกลองแขกในวงปี่พาทย์นางหงส์
กลองตะโพน
กลองตะโพนคือ ตะโพนแต่ดัดแปลงเอามาตีอย่างกลองทัด โดยใช้ไม้นวมตี ไม่ได้ใช้ฝ่ามือตีอย่างตะโพน กลองตะโพนนี้ได้ปรับปรุงใช้สำหรับวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์


กลองแขก
กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอกชุดหนึ่ง ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะหน้าใหญ่กว้างประมาณ 20 ซม. เรียกว่า “หน้ารุ่ย” ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 17 ซม. เรียกว่า“หน้าด่าน” ตัวกลองแขกทำด้วยไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชันหรือไม้มะริดการขึ้นหนังใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่างๆในปัจจุบันอาจใช้เส้นหนังแทนเนื่องจากหาหวายได้ยาก กลองแขกสำหรับหนึ่งมี 2 ลูกลูกเสียงสูงเรียก “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียก “ตัวเมีย”ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้เสียงดังสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา” เดิมใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวาประกอบการเล่นกระบี่กระบอง ฟันดาบและชกมวย แล้วภายหลังจึงนำมาใช้ในวงปี่พาทย์ของไทย ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน และใช้แทนโทน รำมะนาในวงเครื่องสายหรือวงมโหรีด้วยกลองทัด
กลองทัด เป็นกลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้แต่เดิม มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงปี่พาทย์ กลองทัดนี้เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด หุ่นกลองทำจากแก่นไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยขึ้นหน้าทั้ง 2 ข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควายตรึงด้วยหมุด หมุดที่ตรึงหนังเรียกว่า ”แส้” ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์หรือโลหะ ตรงกลางหุ่นกลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า “หูระวิง” เวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองด้านนั้นคว่ำคะแคงขอบไว้ขนหมอนหนุน มีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง กลองทัดมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 46 ซม. ตัวกลองยาวประมาณ 41 ซม. กลองทัดมี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูงดัง “ตุม” เรียกว่า ตัวผู้ และ ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง “ต้อม” เรียกว่า ตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ ทำด้วยไม้รวกมีขนาดยาวประมาณ 54 ซม.
กลองชาตรี (กลองตุ๊ก)

มีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่าง แต่ขนาดเล็กกว่ามากเรียกอีกอย่างหนึ่งตามเสียงดังว่า “กลองตุ๊ก” มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 – 12 นิ้ว สูงประมาณ 18 นิ้ว หุ่นกลองนิยมใช้ไม้ขนุนทำ เพราะทำให้เสียงดังดี หน้ากลองขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควาย โดยใช้หมุดไม้ (ชาวใต้เรียก “ลูกสัก” ) ตอกยึดไว้กับตัวหุ่น กลองชาตรีใช้ตีประกอบร่วมในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครชาตรี จึงเรียกว่า “กลองชาตรี” ใช้ประกอบการแสดงโนราและหนังตะลุง ตำนานโนราเรียกกลองชนิดนี้ว่า “กลองสุวรรณเภรีโลก” โนรารุ่นเก่าใช้ตีเวลาผ่านชุมชนหรือสถานที่ควรเคารพบูชา ตีเป็นสัญญาณบอกคนหรือเรียกคนให้มาดูการแสดง และใช้ตีประกอบเพลงชุด “ออกภาษา” ในเพลงสำเนียงภาษาจีนและตะลุง

โทน หรือ ทับ

โทนชาตรี โทนมโหรี
โทน เป็นชื่อของเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว ใช้ตีกำกับจังหวะในวงดนตรีไทยและใช้ประกอบการแสดงต่างๆ ตัวหุ่นโทนมีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอ มีหางยื่นออกไปและบานปลาย มีชื่อเรียกคู่กันว่า “โทนทับ” โดยลักษณะรูปร่างนั้น โทนมีชื่อเรียกกันได้ตามรูปร่างที่ปรากฎ 2 ชนิดคือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี
โทนชาตรี (ทับ) โทนชาตรีนั้น ตัวโทนทำด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กระท้อนมีขนาดปากกว้าง 17 ซม. ยาวประมาณ 34 ซม. หน้ากลองนิยมใช้หนังบางๆ เช่น หนังค่าง หรือหนังแมวขึ้นหน้า โดยใช้เชือกหรือหวายผูกตรึงไว้กับหุ่น มีสายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ตีด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิดปลายหางที่เป็นปากลำโพงช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ทับใช้ตีให้จังหวะ ควบคุมการเปลี่ยนจังหวะเสริมลีลาท่าทางการแสดงละครชาตรี โนราและหนังตะลุง ตามปกติใช้ทับ 2 ลูก ตีประกอบกับกลองชาตรี ตำนานโนราเรียกทับลูกหนึ่งว่า “น้ำตาตก” และอีกลูกหนึ่งว่า “นกเขาขัน” และทับยังตีประกอบจังหวะ ในวงปี่พาทย์ หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือตะลุง
โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผา ซึ่งนิยมกันว่าเสียงดี ต่อมาได้มีผู้ใช้ไม้จริงทำตัวโทนด้วยและในปัจจุบันมีการประดิษฐ์ตัวโทนโดยเป็นเครื่องเบญจรงค์ลายทองก็มี ตัวโทนด้านที่ขึงหนังโตกว่าโทนชาตรี ขนาดหน้ากว้างประมาณ 22 ซม. ยาวประมาณ 38 ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงวงช้าง ใช้สำหรับบรรเลงคู่กับรำมะนา โดยตีขัดสอดสลับกัน ตามจังหวะหน้าทับ โทนมโหรีใช้ตีเฉพาะในวงเครื่องสาย และวงมโหรี จึงเรียกว่า “โทนมโหรี” เวลาตีใช้ตีคู่กับรำมะนา เสมอ
ตะโล้ดโป๊ด
รูปร่างคล้ายกลองสองหน้าและเปิงมาง แต่ตัวกลองยาวกว่าเปิงมางและสองหน้าตามลำดับ หน้ากลองข้างหนึ่งใหญ่ ข้างหนึ่งเล็ก ตีทางหน้าเล็ก ตัวกลองทำด้วยไม้แก่น กลองชนิดนี้นิยมใช้กันในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยใช้ตีเข้าขบวนแห่ประกอบการฟ้อนรำ และใช้ตีประกอบในการเล่นพื้นเมืองร่วมกับเครื่องดนตรีประจำท้องถิ่น เวลาตีเข้าขบวนแห่ใช้ตีคู่กับกลองแอว์
กลองแอว์
เป็นกลองหน้าเดียว ขนาดใหญ่กว่ากลองยาวมาก บางลูกมีขนาดยาวถึง 3 เมตร เหตุที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง (แอว์คือเอว) ตัวกลองใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียวและปลายบานคล้ายดอกลำโพง กลองชนิดนี้มีประจำวัดทางภาคเหนือของไทย นอกจากใช้ตามวัดแล้วยังใช้ประกอบการเล่นพื้นเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ และใช้ตีเข้าขบวนแห่ในงานพิธี “ปอยหลวง” งานแห่ครัวทานและงาน “ปอยลูกแก้ว” (บวชเณร) อีกด้วย
บัณเฑาะว์
เป็นคำบาลีมาจากคำว่า “ ปณวะ” เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็กพอถือไกวได้ กลองชนิดนี้ไม่ได้ตีเหมือนกลองชนิดอื่นๆ แต่ใช้มือไกวโดยพลิกข้อมือกลับไปมาให้ลูกตุ้มที่ผูกไว้ปลายเชือกโดยไปกระทบที่หน้ากลองทั้งสองหน้า ใช้ในงานพระราชพิธี
กลองยาว
เป็นกลองหน้าเดียว มีสายสำหรับสะพายคล้องคอใช้มือตีเพื่อความสนุกสานา ผู้เล่นอาจใช้กำปั้น ศอก เข่า ศีรษะ ฯลฯ เราได้แบบอย่างการตีกลองยาวมาจากพม่าสมัยที่พม่าเข้ามาตั้งค่ายเพื่อทำสงครามกับไทย
กลองมะริกัน
กลองชนิดนี้หมายถึงกลองที่มีชื่อเรียกว่า “เบสดรัม” (Bass Drum) นั่นเอง ได้นำมาตีประกอบการเล่นละครในสมัยรัชกาลที่ 4

รำมะนา

รำมะนา เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง รำมะนามีอยู่ 2 ชนิด คือ รำมะนามโหรี และ รำมะนาลำตัด
รำมะนามโหรี มีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ 26 ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ 7 ซม. หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า “สนับ” สำหรับหนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ บรรเลงโดยใช้ตีด้วยฝ่ามือ กลองชนิดนี้ใช้ตีกำกับจังหวะในวงมโหรีและเครื่องสายโดยใช้ตีคู่กับโทนมโหรี
รำมะนาลำตัด มีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 48 ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ 13 ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็กซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลายๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากชวา(มลายู) เพราะมลายูมีกลองลักษณะนี้ใช้มาก่อนที่เรียกว่า “ราบาน่า” และเข้ามาแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมใช้ประกอบการร้อง “บันตน” ซึ่งไทยได้แบบอย่างมาจากชวา ต่อมาใช้ประกอบการเล่นลำตัดและลิเกลำตัด ในการประกอบ การเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมวงและเป็นลูกคู่ร้องไปด้วย
เครื่องเป่า

เครื่องเป่า ที่มนุษย์รู้จักใช้แต่เดิมก็คงเป็นหลอดไม้รวก ไม้ไผ่ ใช้เป่าเป็นสัญญาณในการล่าสัตว์ ต่อมาเป่าเขาสัตว์ เช่น ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “ลิงคะ” หรือในภาษาสันสกฤต ว่า “ศฤงคะ” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Horn” ภายหลังรู้จักเจาะรูปและทำให้สั้น ทำลิ้นให้สามารถเปลี่ยนเสียงได้ จึงนำเอามาเล่นเป็นทำนองใช้เป็นเครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่ง เช่น ขลุ่ยกับปี่ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภทที่ 2 ที่มนุษย์คิดขึ้น

ขลุ่ย
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ย” เข้าใจว่าเรียกตามเสียงเป่าที่ได้ยิน ขลุ่ยแต่เดิมทำด้วยไม้รวก ไม้ไผ่ ปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อ ใช้กาบกล้วยแล้วนำไปย่างไฟให้แห้ง น้ำในกาบกล้วยจะเข้าไปในเนื้อไม้ไผ่ จากนั้นก็นำมาขัดตบแต่งผิวเป็นลวดลายสวยงาม ต่อมาทำด้วยไม้จริงบ้าง งาช้างบ้าง ขลุ่ยเลาหนึ่งมีลักษณะคือ ด้านหน้าเจาะรูกลมๆ เรียงแถวกัน 7 รู สำหรับนิ้วปิดเปิดเสียงเพื่อเปลี่ยนเสียงตามความต้องการ ขลุ่ยไม่มีลิ้นเหมือนปี่ แต่เขาใช้ไม้อุดเต็มปล้อง แล้วปาดด้านล่างให้มีช่อง ไม้อุดนี้เรียกว่า “ดาก” ทำด้วยไม้สักเพราะไม่มีขลุ่ยมาบังลม ด้านหลังใต้ดากลงมาเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ปาดตอนล่างเป็นทางเฉียงไม่เจาะทะลุตรงเหมือนรูด้านหน้า รูที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ เรียกว่า “รูปากนกแก้ว” ใต้รูปากนกแก้วลงมา เจาะรูอีก 1 รู เรียกว่า “รูนิ้วค้ำ” เพราะเวลาเป่า ผู้เป่าจะใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ เหนือรูนิ้วค้ำด้านหลัง และเหนือรูบนของรูด้านหน้าทั้งเจ็ดรู แต่อยู่ทางด้านขวา เจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า “รูเยื่อ” เพราะแต่ก่อนจะใช้เยื่อไม้ไผ่ปิดรูนี้ต่อมาก็ไม่ค่อยได้ใช้ ตรงปลายเลาขลุ่ยจะเจาะรูให้ซ้ายขวาตรงกันเพื่อร้อยเชือก เรียกว่า “รูร้อยเชือก” ดังนั้น จะสังเกตว่าขลุ่ย 1 เลา จะมีรูทั้งสิ้น 14 รู ขลุ่ยนั้นแต่เดิมมีชนิดเดียว ต่อมาเมื่อนำมาเล่นผสมวงดนตรี จึงมีผู้ทำเป็น 3 ขนาด ขลุ่ยใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสาย วงมโหรีหรือจะเล่นเดี่ยวก็ได้
ขลุ่ยมีทั้งหมด 3 ชนิดคือ
(1) ขลุ่ยหลีบ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 36 ซม. กว้างประมาณ 2 ซม.
(2) ขลุ่ยเพียงออ มีขนาดกลาง ยาวประมาณ 45 – 48 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. ปัจจุบันนิยมใช้ขลุ่ยเพียงออกันมาก
(3) ขลุ่ยอู้ มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 60 ซม. กว้างประมาณ 4 – 5 ซม.
ต่อมามีผู้สร้างขลุ่ยกรวดขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ 1 เสียง ขลุ่ยกรวดใช้กับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง เช่น วงเครื่องสายผสมไวโอลิน วงเครื่องสายผสมออร์แกนมาเล่นร่วมวง
ปี่ ปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทยแท้ๆ และเป็นเครื่องเป่าของชาวไทย เรารู้จักประดิษฐ์ขึ้นมาใช้แต่ก่อนเก่า เพราะวิธีการเป่าและลักษณะการเจาะรูไม่เหมือนหรือไม่ซ้ำแบบกับเครื่องเป่าของชาติใดๆ ที่เรียกว่า “ปี่” ก็คงเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ปี่ทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชันหรือไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่องเจาะภายในให้กลวงตลอดเลา ทางหัวของปี่เป็นช่องรูเล็กส่วนทางปลายของปี่ ปากรูใหญ่ใช้ชันหรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละ 0.5 ซม. ส่วนหัวเรียก “ทวนบน” ส่วนท้ายเรียก”ทวนล่าง” ตอนกลางของปี่ เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงลงมาจำนวน 6 รู รูตอนบนเจาะเรียงลงมา 4 รู เว้นระยะห่างเล็กน้อย เจาะรูล่างอีก 2 รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน 14 คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ตรงทวนบนนั้นใส่ลิ้นปี่ที่ทำด้วยใบตาลซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆ ที่
เรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวประมาณ 5 ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาค หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า “ผูกตะกรุดเบ็ด” ส่วนของกำพวดที่จะต้องสอดเข้าไปเลาปี่นั้นเขาใช้ถักหรือเคียนด้วยเส้นด้าย สอดเข้าไปในเลาปี่ให้พอมิดที่พันด้ายจะทำให้เกิดความแน่นกระชับยิ่งขึ้น
ปี่ของไทยจัดได้เป็น 3 ชนิดดังนี้
(1) ปี่นอก มีขนาดเล็ก เสียงเล็กแหลมสูง ยาวประมาณ 31 ซม. กว้าง 3.5 ซม. เป็นปี่ที่ใช้กันมาแต่เดิม
(2) ปี่กลาง มีขนาดกลาง เสียงระดับกลาง ยาวประมาณ 37 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. สำหรับเล่นประกอบการแสดงหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงอยู่ระหว่างปี่นอก กับปี่ใน
(3) ปี่ใน มีขนาดใหญ่ มีเสียงต่ำ มีความยาวประมาณ 41 – 42 ซม. กว้างประมาณ 4.5 ซม. เป็นปี่ที่พระอภัยมณีใช้สำหรับเป่าให้นางผีเสื้อสมุทร ขาดใจตายนั่นเอง
ในการบรรเลงวงปี่พาทย์ในปัจจุบัน ปี่นอกกับปี่กลาง ไม่ค่อยได้ใช้ คงใช้แต่ปี่ในกันเป็นพื้น
ปี่ชวา
เดิมเป็นของชวา (แขก) เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน เหมือนกับปี่ไฉนแต่ขนาดยาวกว่า คือ “เลาปี่” ทำด้วยไม้และ “ลำโพงปี่” ทำด้วยไม้หรืองาช้างก็มี ปี่ชวามีเสียงแหลม ดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขก ในขบวนพยุหยาตรา และใช้ประกอบการเล่นกระบี่กระบอง การชกมวยไทย ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา
ปี่มอญ
เดิมเป็นของมอญ เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน เช่นเดียวกับปี่ชวาแต่มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนที่เป็น “เลาปี่” ทำด้วยไม้ และส่วนที่เป็น “ลำโพงปี่” ทำด้วยทองเหลือง ทั้งสองส่วนนี้สอดสวมกันหลวมๆ จึงต้องมีเชือกผูกโยงเพื่อไม่ให้หลุดจากกัน ปี่มอญมีเสียงโหยหวนชวนเศร้า ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญและบรรเลงเพลงประกอบการแสดงฟ้อนของภาคเหนือ
ปี่ไฉน
ปี่ไฉนเป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน แยกออกจากกันโดยใช้สวมต่อกัน ท่อนบนเรียวยาว มี 7 รู รูนิ้วด้านหลังอีก 1 รู สำหรับปิดเปิดนิ้วเพื่อเปลี่ยนเสียง เรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างเรียก “ลำโพง” ทำด้วยไม้และงาช้างก็มี ลิ้นปี่ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือ มีกำพวดผูกลิ้นใบตาลเหมือนกันแต่มี “กระบังลม” ซึ่งทำด้วยโลหะหรือกะลา สวมไว้ด้วยสำหรับรองลมฝีปากในขณะเป่า เข้าใจว่าไทยได้แบบอย่างปี่ชนิดนี้มาจากอินเดีย แต่เดิมปี่ไฉนนั้นใช้ในการใดยังไม่ทราบ สันนิษฐานว่าใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เช่น เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกในพระราชพิธี ปัจจุบันใช้ในงานพระราชพิธี เช่น เป่าในขบวนแห่ พระบรมศพหรือศพเจ้านาย

ปี่ไหน
เป็นเครื่องดนตรีของภาคใต้ เป็นเครื่องเป่าที่มีรูปร่างเหมือนปี่ในหรือปี่นอกของภาคกลางแต่เล็กกว่าปี่นอก ระดับเสียงสูงกว่า มีรูบังคับเสียง 6 รู ลิ้นทำด้วยใบตาลผูกติดกับท่อลมเล็กๆ (กำพวด) ปี่ไหนนิยมใช้เป่าประสมในวงดนตรีประกอบการแสดงโนราและหนังตะลุง
ปี่กาหลอ หรือ ปี่ห้อ
เป็นเครื่องดนตรีของภาคใต้ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง เลาปี่ทำด้วยไม้ยาวประมาณ 13 นิ้ว มีบังคับเสียง 7 เสียง และด้านล่างมีรูนิ้วหัวแม่มือ 1 รู ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลมีบังลมทำด้วยไม้หรือเปลือกหอยมุก ด้านล่างเป็นลำโพงปี่ทำด้วยไม้ปากบานเพื่อขยายเสียง (เช่นเดียวกับปี่ชวา) นิยมใช้ลูกปัดสีต่างๆ ร้อยห้อยที่เลาปี่เพื่อตกแต่งด้วย ปี่กาหลอใช้เป่าบรรเลงในงานศพหรืองานบวชที่ผู้บวชจะไม่สึก
ปี่อ้อ
ปี่อ้อเป็นปี่โบราณชนิดหนึ่งของไทย ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ ยาวประมาณ 24 เซนติเมตร เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการ หัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลือง หรือเงิน เพื่อป้องกันมิให้แตกง่าย ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดปรือเปิดนิ้ว เปลี่ยนเสียง 7 รู และด้านหลังมีรูนิ้วค้ำ (เช่นเดียวกับขลุ่ย) อีก 1 รู ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็กๆ ยาวประมาณ 5 ซม. ด้านหนึ่งเหลาให้บางอีกด้านหนึ่งกลมและมีด้ายพันให้กระชับพอดีกับรูปี่ แต่ก่อนใช้บรรเลงในวงเครื่องสาย ต่อมาใช้ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลิบแทน ปี่อ้อจึงหายไป
ปี่ซอ
ทำด้วยไม้รวก ปล้องยาว มีหลายขนาด ความยาวตั้งแต่ 45-80 ซม. สำรับ (ชุดหนึ่ง) มี 3 เล่ม 5 เล่ม หรือ 7 เล่ม (เรียก เล่ม ไม่ใช่ เลา ) ปี่ซอถ้าใช้ 3 เล่ม มี 3 ขนาด เล่มเล็กเป็นปี่เอกเรียกว่า “ปี่ต้อย” เล่มกลาง เรียกว่า “ปี่กลาง” และเล่มใหญ่เรียกว่า “ปี่ใหญ่” ลักษณะการเล่นแยกออกตามทำนองเพลง เช่น
1. ทำนองเพลงเชียงใหม่ มักมีซึงดีดประกอบด้วย
2. ทำนองเพลงฟ้อนเงี้ยว ใช้ปี่ซอขนาดเล็ก 3 เล่ม รวมกับซึง
3. ทำนองเพลงจ๊อย เพลงประเภทนี้เป็นเพลงรำพันรัก สำหรับใช้แอ่วสาว นิยมเล่นในตอนกลางคืน โดยใช้ปี่เอกเป่าคลอกับการสีสะล้อ
4. ใช้กับทำนองพระลอ คือ ใช้เป่าประกอบการขับเรื่องพระลอ
5. ทำนองเพลงพม่า ซึ่งมีสร้อยเพลงว่า “เซเลเมา”

แคน
เป็นเครื่องเป่าทำด้วยไม้ซางขนาดต่างๆ กัน เรียกว่า ลูกแคน มีขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง นิยมเล่นกันมาแต่โบราณ นำมาเรียงลำดับ โดยเรียงลำใหญ่ไว้คู่หน้าและลำเล็กๆ เป็นคู่ถัดไปตามลำดับและต้องเรียงให้กลางลำตรงที่ใส่ลิ้นอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ชันหรือขี้ผึ้งพอกกันลมรั่ว เหนือเต้าขึ้นไปประมาณ 4-5 ซม. เจาะรูด้านข้างของลำไม้ซางตั้งแต่คู่ที่ 2 เป็นต้นไป ลำละ 1 รู สำหรับนิ้วเปิดปิดเปลี่ยนเสียง ส่วนคู่แรกเจาะรูด้านหน้าเหนือเต้าขึ้นไปประมาณ 2-3 ซม. สำหรับนิ้วหัวแม่มือปิดเปิด ตรงกลางเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า เรียกส่วนนี้ว่า “เต้า” ผูกติดกันเป็นแถว 2 แถว แถวละ 6 ลำบ้าง 7 ลำบ้าง 8 ลำบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะเป็นแคนหก แคนเจ็ดหรือแคนแปด การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออก แคนเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองชาวไทยอีสานใช้เป่าเดี่ยวและคลอร้องประกอบในการเล่นพื้นเมืองที่เรียกว่า “หมอลำ”
แคน มีหลักฐานที่ยืนยันว่า แคนเป็นเครื่องดนตรีของไทยโบราณนั้นพบได้จากบันทึกของจีน คือ
ที่เมือง Changsha แคว้นยูนาน เขาได้พบศพ 2 ศพ ที่เกรียวกราวมากเป็นศพที่มีอายุตั้ง 2,000 ปี แล้วร่างกายอยู่อย่างเก่าเอาอะไรกดเข้าไปก็ไม่เป็นไร แล้วก็เครื่องแต่งกายที่วิจิตรพิสดารมาก รัฐบาลของเขาให้ชื่อศพนี้ว่า “The Duke of Tai and his Consart” ในข้างๆ ศพ ปรากฎสิ่งของ 2 อย่าง คือ เครื่องใช้ประจำวันเป็นเครื่องเขิน คล้ายๆ กับของเชียงใหม่เรา มีจำนวนนับร้อย แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ตรงกับของเราที่เรียกว่า แคน
ในเรื่องที่เกี่ยวกับแคนนี้ สุมาลี นิมมานุภาพ ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า จากบันทึกของจีนที่บันทึกว่าจีนมีแคนใช้มาประมาณ 3,000 ปี แต่จีนมีแคนใช้หลังไทย เพราะฉะนั้นแคนไทยต้องมีอายุมากกว่า 3,000 ปี ที่กล่าวว่าจีนทีแคนใช้หลังไทยเพราะถ้าใช้การเปรียบเทียบรูปร่างเครื่องดนตรีประเภทเดี่ยวกันและวัสดุที่ประกอบเครื่องดนตรีตามทฤษฎี Ethnomusicology แล้วจะเห็นว่า แคนจีน (Sheng) อ่านว่า เชิง.. มีรูปร่างกะทัดรัดสวยงามกว่าแคนไทย ทั้งนี้เพราะมีแบบอย่างแคนไทย ซึ่งรูปร่างยาวเก้งก้าง และใชัวัสดุที่ทนทานไม่เท่ากับแคนจีน เป็นตัวอย่างหรือเป็นแม่แบบแสดงว่าจีนประดิษฐ์แคนขึ้นหลังไทย เห็นข้อบกพร่องของแคนไทยแล้วจีนจึงสร้างแคนของตนได้งามสมบูรณ์แบบกว่า

โหวด
เป็นเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ตัวโหวดทำด้วยไม้ไผ่ ไม้รวก (หรือไม้เฮี้ย) ลำเล็กๆ สั้นยาวต่างกัน จำนวน 6-9 ลำ มัดติดกับกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นแกนกลางโดยใช้ขี้สุดติด แต่ละลำจะมีระดับเสียงแตกต่างกันตามขนาดสั้น-ยาว ตามปกติโหวดมี 5 เสียง แต่เดิมใช้เชือกผูกปลายด้านหนึ่งแล้วเหวี่ยงหมุนกลับไปมา ทำให้เกิดเสียงโหยหวน ต่อมาใช้ปากเป่าเล่นเพลงพื้นบ้านเป็นที่นิยมกันทั่วไปในแถบภาคอีสาน
แตร
เป็นชื่อของเครื่องเป่าที่ทำด้วยโลหะใช้ในงานพระราชพิธีมาแต่โบราณ ทั่วๆ ไป มี 2 ชนิด คือ แตรงอน และแตรฝรั่ง
แตรงอน
มีลักษณะโค้งงอน ตอนปลายบาน เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบมาจากเขาสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของมนุษย์ ไทยเราคงได้แบบอย่างเครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดียเพราะอินเดียมีแตรรูปนี้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในขบวนแห่ และในงานพระราชพิธี ปัจจุบันแตรงอนใช้บรรเลงร่วมกับสังข์ ในงานพระราชพิธีเกียรติยศ เช่น ในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราและในขบวนแห่อื่นๆ ในการนี้จะต้อง “เป่าแตรสังข์” เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย
แตรฝรั่ง
มีลักษณะปากบานคล้ายดอกลำโพง ในหนังสือกฎมณเฑียรบาล โบราณเรียกแตรชนิดหนึ่งว่า “แตรลางโพง” และในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ 1 เรียกว่า แตรวิลันดา” คงจะเป็นแตรที่ชาวฮอลันอานำเข้ามาเป็นครั้งแรกเข้าใจว่คงเป็นแตรชนิดเดียวกัน แตรฝรั่งใช้ร่วมกับแตรงอน
และสังข์ ใช้ในงานพระราชพิธี เหตุที่ไทยเรียกว่า แตร เพราะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน

สังข์
เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง ทำจากเปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่ง คือ หอยสังข์ เปลือกขรุขระ ต้องเอามาขัดให้เรียบเกลี้ยงเสียก่อน แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูเป่า เครื่องเป่าชนิดนี้ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปาก ไทยเราได้แบบอย่างมาจากอินเดียใช้เป่าคู่กันกับแตรมาตลอด การใช้เครื่องเป่าชนิดนี้ถือเป็นของขลังและศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะงานที่มีเกียรติสูงศักดิ์เท่านั้น

 

top

กลับหน้าหลัก