หน้าที่เครื่องดนตรีไทย


เรื่อง :

หน้าที่ของเครื่องดนตรีไทย

..... การบรรเลงดนตรีของวงดนตรีไทยนั้น เครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิดจะมีหน้าที่ในการ
บรรเลงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการสร้างเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เช่น
บางชิ้นมีเสียงสูง บางชิ้นมีเสียงต่ำ เป็นต้น ซึ่งเครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิดจะมีหน้าที่ในการบรรเลง ดังต่อไปนี้

1. จะเข้
จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทดำเนินทำนองจะใช้ดำเนินทำนองคลุกเคล้าไปกับระนาดเอกและซอด้วงบางโอกาส
อาจใช้รัวให้เสียงยาวบ้าง

2. ซอสามสาย
ใช้บรรเลงคลอไปกับเสียงคนร้อง เวลาที่ดนตรีรับทั้งวงก็บรรเลงร่วม ไปด้วย แต่ต้องพยายามสีให้กลมกลืน และสามารถมีเสียงลอดออกมาได้บ้างตามความเหมาะสม ซอสามสายจะใช้บรรเลงในวงมโหรีและ
วงเครื่องสายผสมเท่านั้น

3. ซอด้วง
จะใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี โดยในวงเครื่องสายซอด้วงจะทำหน้าที่เป็นผู้นำวงในการล้อ
ล้วง ขัด และการออกเพลงต่างๆ เช่น เพลงหางเครื่องและลูกหมด ส่วนในวงมโหรี ซอด้วงมีหน้าที่เดินทำนอง
ร่วมไปกับระนาดเอก แต่บทบาทในการนำวง ระนาดเอก จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ

4. ซออู้
จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทตาม ทำหน้าที่บรรเลงคู่ไปกับซอด้วงและระนาดเอก
ในเวลาที่ซอด้วงหรือระนาดเอกทำหน้าที่ล้อและขัด ซออู้ใช้บรรเลงในวงเครื่องสาย
วงเครื่องสายผสม วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

5. ระนาดเอก
ใช้บรรเลงในวงมโหรี วงเครื่องสายผสม วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ ไม้แข็ง
วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และวงปี่พาทย์มอญ โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง ในการล้อและขัด
การดำเนินทำนองจะเป็นไปอย่างละเอียด เรียกว่า เก็บ

6. ระนาดทุ้ม
ใช้บรรเลงในวงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ นางหงส์ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
และวงปี่พาทย์มอญ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ตาม คอยหยอกล้อไป กับระนาดเอก

7. ฆ้องวงใหญ่
ใช้บรรเลงในวงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ นางหงส์ และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีประเภทตาม ใช้บรรเลงทำนอง หลักของเพลง จะเดินทำนองห่างๆ

8. ฆ้องวงเล็ก
จะประสมอยู่ในวงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์นางหงส์ โดยทำหน้าที่เป็น
เครื่องดนตรีประเภทนำ ใช้บรรเลงเก็บคล้ายกับระนาดเอก แต่ดำเนินเก็บเป็นทางฆ้องเล็ก

9. ปี่
ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง และจะแยกใช้ตามลักษณะงานแต่ละประเภทโดยทำหน้าที่
เป็นเครื่องดนตรีประเภทนำ อาจเป่าเก็บหรือโหยหวน คลุกเคล้าไปตามทำนองของเพลง

10. ขลุ่ยเพียงออ
จะประสมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรี และวงปี่พาทย์ไม้นวม จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทนำ ในกรณีที่มีขลุ่ยเลาเดียว และจะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตาม ถ้ามีขลุ่ยหลีบร่วมด้วย

11. ขลุ่ยหลีบ
จะประสมอยู่ในวงเครื่องสายและวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องดนตรีประเภทนำ

12. ขลุ่ยอู้
จะประสมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรีเครื่องใหญ่ และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์โดยทำหน้าที่เป็น
เครื่องดนตรีประเภทตาม

13. ฉิ่ง
ทำหน้าที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ วงดนตรีไทยทุกวงจะต้องใช้ฉิ่งเป็นผู้ทำจังหวะให้

14. ฉาบเล็ก
ทำหน้าที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ โดยจะบรรเลงคลุกเคล้าไปกับจังหวะของฉิ่ง

15. ฉาบใหญ่
จะประสมอยู่ในวงปี่พาทย์ไม้แข็งและวงปี่พาทย์มอญ ใช้บรรเลงจังหวะประกอบฉิ่ง

16. กลองทัด
เป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบอยู่ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ใช้บรรเลงคู่กับตะโพน พบเห็นได้
ในการแสดงประเภทโขน ลิเก เป็นต้น

17. กลองชาตรี
ทำหน้าที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ โดยจะประสมอยู่ในวงปี่พาทย์ชาตรี และยังนำมาประกอบ
การบรรเลงในเพลงทำนองตะลุงด้วย

18. กลองแขก
ทำหน้าที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ โดยจะประสมอยู่ในวงปี่พาทย์ วงมหาดุริยางค์ และวงมโหรีในบางครั้ง

แหล่งข้อมูล : หนังสือ สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย
ผู้แต่ง : เฉลิมศักดิ์ บุญมานำ

 

top

กลับหน้าหลัก